สัมภาษณ์พิเศษ : “สันติพล เจนวัฒนไพศาล” นึกถึงที่จอด (รถ) คิดถึง JPARK

HoonSmart.com >> “สันติพล เจนวัฒนไพศาล” หรือคุณสัน ในวันที่เดินมาถึงจุดนำหุ้น “เจนก้องไกล” เข้าตลาดหุ้นไทย ผู้นำเบอร์ 1 ที่จอดรถ ไร้คู่เทียบ อนาคตเติบโตตามการเติบโตของเมือง , ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น

สันติพล เจนวัฒนไพศาล

บริษัท เจนก้องไกล (JPARK ) ว่าที่น้องใหม่ไอพีโอ กำลังนับถอยหลังขายหุ้น IPO ภายในเดือน ก.ย.  และเข้าซื้อขายในตลาด mai ต้นเดือนตุลาคม นี้

สำหรับ JPARK เป็นผู้นำให้บริการหลัก 4 ประเภทคือ 1.บริการที่จอดรถยนต์ – รถจักรยานยนต์  ( Parking Service Business หรือ PS), 2.รับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Parking Management Service Business หรือ PMS )

3.การให้คำปรึกษา-รับติดตั้งระบบบริหารที่จอดรถ ( Consultant and installation Parking System Business หรือ CIPS ) และ 4 อื่น ๆ

JPARK มีประสบการณ์-ความน่าเชื่อถือ ในการบริหาร-จัดการ ที่จอด-ลานจอดรถ ครบวงจร ไม่น้อยกว่า 20 ปี จากการเริ่มต้นของ “สันติพล เจนวัฒนไพศาล” ผู้ก่อตั้ง-ถือหุ้นใหญ่ JPARK การบริหารจัดการที่จอดรถ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด เป็นพื้นที่มีศักยภาพ หรือมีผู้มาใช้บริการจอดรถจำนวนมาก เช่น แหล่งศูนย์การค้า โรงพยาบาล ตลาด ฯ ย่านธุรกิจ ทำให้ผลประกอบการของ JPARK เติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยไม่นับช่วงโควิด

จากคนออกแบบสนามบิน สู่การบริหารพื้นที่จอดรถ

“ สันติพล” ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)  JPARK หลังศึกษาจบปริญญาตรีวิศวกรรมโยธา  เริ่มต้นทำงานบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ที่รับก่อสร้างโรงงาน หาประสบการณ์อยู่ 2 ปี จากนั้นศึกษาต่อปริญญาโท วิศวกรรมขนส่ง มีโอกาสได้ออกแบบสนามบิน เมื่อมีโอกาส จึงได้ออกมาตั้งบริษัทบริหารจัดการที่จอดรถ จนถึงปัจจุบันใน JPARK

ซีอีโอ เล่าความเสี่ยงของธุรกิจ JPARK คือ 1.การไม่มีรถยนต์ เข้ามาจอด เช่นกรณีที่เกิดโรคระบาดโควิด ปิดเมือง ล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นปัจจัยคาดไม่ถึง และไม่ได้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้ง เป็นปัจจัยควบคุมไม่ได้ และ 2. ไม่มีพื้นที่ให้บริการจอดรถ หรือไม่มีการต่อสัญญาบริหารที่จอดรถ และความเสี่ยงขาดแคลนแรงงาน

“เมื่อบริษัท ฯ รู้ความเสี่ยงของธุรกิจได้ ก็ต้องปิดความเสี่ยงนั้น โดยการหาพื้นที่มีศักยภาพ เพิ่มมากขึ้น รักษาพื้นที่เดิมที่สร้างรายได้ไว้ , รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือเจ้าของพื้นที่ให้สัมปทาน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี ทดแทนการใช้แรงงานตลอดจนการให้บริการที่ดี กับผู้ใช้บริการ ทำให้ JPARK สามารถบริหารพื้นที่จอดรถกว่า 63 แห่ง ทั้งในกรุงเทพ-ต่างจังหวัด รวมกว่า 28,000 ช่องจอด และโครงการที่จอดรถในอนาคต ที่จะผลักดันการเติบโต

สัญญา (เช่า) นั้นสำคัญไฉน 

เห็นได้ว่า การบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่า , พื้นที่สัมปทาน มีระยะเวลาแน่นอน จะ 1 ปี 2 ปี หรือ 30 ปี เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนกังวล  เรื่องนี้ “สันติพล” สร้างความมั่นใจได้ว่า  JPARK สามารถต่อสัญญาได้ต่อเนื่อง จากสัญญาสั้น กลายเป็นสัญญาระยะยาว ซึ่งมีสาเหตุจาก ไร้คู่แข่ง ที่มีการบริหาร-จัดการ แบบเดียวกับ JPARK ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก ๆ  , ค่าบริการเช่าจอดเป็นที่พึงพอใจของผู้มาใช้บริการ และการพัฒนาเทคโนโลยีการให้บริการทันสมัย ทำให้ JPARK ได้รับการต่อสัญญาบริหารพื้นที่จอดรถตลอดที่ผ่านมา

IPO  สร้าง “อาคารจอดรถรพ.พระนั่งเกล้า”  

“สันติพล” กล่าวถึงเป้าหมายการระดมทุนของ JPARK  มีเรือธงอยู่ที่ อาคารโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มูลค่าการลงทุน 300 ล้านบาท เป็นการเช่าพื้นที่และลงทุนก่อสร้างอาคารจอดรถ จำนวน 6 ชั้น รวม 532 ช่องจอด ระยะเวลาเช่า 30 ปี ลงทุนโครงการนี้ 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งจากการระดมทุน และเหตุที่ต้องลงทุนสร้างอาคาร เนื่องจาก พื้นที่จอดรถ รพ. เป็นพื้นที่เป้าหมายของ JPARK ที่เห็นศักยภาพการเติบโตและความต้องการที่จอดรถ ของผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล ซึ่งพื้นที่ให้บริการไม่เพียงพอต่อผู้มาใช้บริการโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 3/2567 เป็นต้นไป

อนาคตเพิ่มช่องจอด

ซีอีโอ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มพื้นที่บริหารจัดการจอดรถหลายโครงการ  มีพื้นที่เป้าหมายทั้งกรุงเทพ – ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ขาดแคลนพื้นที่จอดรถ เป็นกลุ่มเป้าหมายของ JPARK โดยเฉพาะพื้นที่จอดรถโรงพยาบาล คาดปลายเดือนก.ย.นี้ หรือ ต้นต.ค. รู้ผลการเจรจา เป็นโครงการที่มีศักยภาพสูง  เช่น อาคารจอดรถโรงพยาบาล , สนามบิน และย่านกลางเมือง หาที่จอดรถยาก

ทั้งนี้ JPARK มีทุนชำระแล้วก่อนไอพีโอ 145 ล้านบาท เตรียมเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป 110 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลังเพิ่มทุน 200 ล้านบาท หรือ 400 ล้านหุ้น โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ (APM) ที่ปรึกษาการเงิน และบล.ฟินันเซีย ไซรัส แกนนำจัดจำหน่าย

ผลดำเนินงาน JPARK ปี 2563-2565 มีรายได้ 286.17 ล้านบาท , 243.61 ล้านบาท และ 455.09 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6.51 ล้านบาท , ปี 2564 ช่วงโควิด ขาดทุน -10.99 ล้านบาท และปี 2565 กำไรสุทธิ 55.05 ล้านบาท