“บลจ.กสิกรไทย” แนะจัดพอร์ตรับปี 66 “กลยุทธ์ Core & Satellite” สร้างกำไร

HoonSmart.com>> “บลจ.กสิกรไทย” แนะปรับพอร์ตรับโลกเปลี่ยน ชูจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ไม่หวั่นภาวะการลงทุนผันผวน พร้อมเพิ่มจังหวะทำกำไร ช่วงตลาดขึ้น ลดความผันผวนตลาดขาลง พร้อมคัด 5 กองทุนผสม จัดพอร์ตหลักสัดส่วน 70-80% อีก 20-30% เน้นลงทุนระยะสั้นเพิ่มโอกาสทำกำไร ด้าน “J.P.Morgan” มองตลาด “สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น” น่าสนใจ ฟาก “BlackRock” ชี้เป้าธุรกิจที่จะเติบโตในอนาคต “AI-พลังงานสะอาด-ธุรกิจเกี่ยวข้องโครงสร้างพื้นฐาน โรโบติก-สุขภาพ-การเงินสมัยใหม่” ยกตลาดหุ้นจีนโดดเด่น ราคาไม่แพง

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ผนึกกูรูเศรษฐกิจ-ลงทุนและพันธมิตรระดับโลก จาก “J.P. Morgan Asset Management และ BlackRock” พร้อมส่องกลยุทธ์จัดพอร์ตรับโลกเปลี่ยน “KAsset Investment Forum : ปรับพอร์ตรับโลกเปลี่ยน 2024”

จากมุมมองเศรษฐกิจของ “วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์”, CFA รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย มองความกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ลดลงไปแล้ว หรือถ้าเกิดก็จะเป็นแบบบาง

ในส่วนของดอกเบี้ยสหรัฐฯ ได้เข้าสู่จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยแล้ว Fed น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งหนึ่งก่อนสิ้นปีนี้ แล้วจะหยุด ไม่คิดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยลงเร็ว แต่จะ Stay High for Longer เพื่อรอดูแล้วให้ดอกเบี้ยระดับสูงเยียวยาตัวเอง ช่วยกดดอกเบี้ยให้ลงมาอีกสักพัก ตัวเลขการว่างงานอาจจะปรับขึ้นได้อีก เศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดย Fed คงดูว่าดอกเบี้ยระดับ 5.5% จะเอาเศรษฐกิจอยู่หรือไม่ ถ้าเอาไม่อยู่ ก็พร้อมที่จะลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งช่วงกลางปีหน้า

จากสถิติที่ผ่านมา เมื่อ Fed หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากนั้น 3-6 เดือน ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 จะเป็นบวก 7-15% เป็นช่วงที่รีเทิร์นสูงสุด ถ้าเป็น 12 เดือน จะปรับเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 19% อัตราการเพิ่มขึ้นจะน้อยลง แต่ก็เป็นแนวโน้มขาขึ้นอยู่นั่นเอง

ในส่วนของเทรนด์การลงทุน จากข้อมูลของ Deutsche Bank พบว่า เงินลงทุนในธุรกิจ ESG 30 Trillion ในวันนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 Trillion ในอีก 20 ปีข้างหน้า จากการที่บริษัทชั้นนำระดับโลก เริ่มมองหาคู่ค้าที่เป็น ESG เช่นเดียวกับ KAsset ที่เล็งเห็นความสำคัญ และเริ่มพัฒนาการลงทุนใน ESG มาตั้งแต่ปี 2013 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน KAsset เป็นผู้นำในตลาดการลงทุนแบบ ESG และก็มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์การลงทุน ESG ในอนาคตอีกด้วย

ด้านมุมมองของ “มทินา วัชรวราทร” , CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย มองว่า ช่วง 10 ปีข้างหน้า จะไม่เหมือน 10 ปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยยุคต่อไปจะไม่ใช่ 0-2% เงินเฟ้อจะไม่ใช่ 2-3% แต่จะสูงกว่านั้น

ปัจจุบันตลาดอยู่ในช่วง Late Cycle ภาพตลาดแรงงานจะค่อย ๆ ซอฟต์ลง ตัวเลขเศรษฐกิจจะค่อย ๆ อ่อนลง การว่างงานจะค่อย ๆ สูงขึ้น เงินเฟ้อชะลอมากขึ้น แต่นักลงทุนยังต้อง Stay Invested

ทั้งนี้พบว่า “หุ้นโลก” ยังคงให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12 เดือน หลังเกิด Late Cycle เฉลี่ย 6.62% ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ โดยมี 2 ตลาดที่นักลงทุนไทยยังลงทุนน้อยไป ได้แก่ “หุ้นสหรัฐฯ” และ “หุ้นอินเดีย” ที่กำลังจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงสุดในเอเชีย โดยมีการคาดการณ์ว่า GDP จะเติบโตถึง 5% ต่อปี เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งถือเป็น 2 ตลาดที่น่าสนใจ และควรมีติดพอร์ตไว้ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดี

“แนะนำการจัดพอร์ตด้วยกลยุทธ์ “Core and Satellite” แบ่งสัดส่วน “Core Portfolio” เน้นลงทุนระยะยาวแบบ Asset Allocation ประมาณ 70-80% ของพอร์ตผ่านกองทุนผสมกสิกรไทย และ “Satellite Portfolio” เน้นลงทุนระยะสั้นแบบจับจังหวะตลาด (Market Timing) ประมาณ 20-30% ของพอร์ต โดยเลือกลงทุนตามสถานการณ์เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไร”

สำหรับกองทุนผสมกสิกรไทยที่เป็น “Core Portfolio” แนะนำกองทุน K-GA, K-GINCOME, K-PLAN2, K-PLAN3 และ Wealth PLUS

ด้านมุมมอง “Tai Hui” Managing Director Chief Market Strategist, Asia Pacific, J.P. Morgan Asset Management กล่าวถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่า ช่วงวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างเร็ว จนมาอยู่ที่ 5.5% แต่ยังเอาเศรษฐกิจไม่ลง แม้จะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม ไม่เหมือนฝั่ง “ยุโรป” ที่กำลังซื้อลดน้อยถอยลงไปจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่สูงอาจไม่กระทบมากนัก เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ เองเกือบ 60% เป็นดอกเบี้ยเก่า ที่ล็อกอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำในตอนซื้อ อาจจะจ่ายดอกเบี้ยแค่ 3% หรือต่ำกว่า จึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับคนใหม่ ๆ ที่กำลังกู้เงินเพื่อสร้างบ้าน ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ตามมา

แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงเรื่องของปัญหาด้านนโยบายทางการเงิน บริษัทในสหรัฐฯ ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น จากการกู้เงินเพื่อการลงทุน หรือขยายกิจการ ซึ่งจากเดิมก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว ๆ 2% หรือต่ำกว่านั้น แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 5%

ในทางกลับกัน ประเทศในทวีปเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาวิกฤติโรคระบาด แต่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของการบริโภคภายในประเทศ

ภาครัฐญี่ปุ่นยังส่งเสริมแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ พร้อมผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นเข้าไปเติบโตในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อย่างเทคโนโลยีทางการแพทย์ และปัญญาประดิษฐ์ ญี่ปุ่นจึงถือว่าเป็นหนึ่งตลาดที่น่าสนใจในการกระจายการลงทุน

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความเสี่ยง คือ “ไม่ลงทุน” หรือ “ลงทุนน้อยเกินไป” แม้บางปีการถือเงินสดจะให้ผลตอบแทนที่ดี เพราะสินทรัพย์อื่นร่วง เช่น ในปี 2018 หรือปี 2022 แต่นอกนั้น การถือเงินสดให้ผลตอบแทนที่น้อยมาก การจัดพอร์ต (Asset Allocation) เป็นกลยุทธ์ที่ดี ทั้งในแง่ของผลตอบแทน และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดี ผลตอบแทนแม้จะไม่สูงสุด แต่ก็อยู่ในกลุ่มบนเช่นกัน

ด้าน “Elaine Wu” Managing Director, APAC Head of Sustainable Investment Research, BlackRock Investment Institute มองว่า เรากำลังเข้าสู่ “ยุคใหม่” ภาวะเงินเฟ้อที่ผ่านมาอาจไม่สูง แต่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ก็ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนมหาศาล ทำให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และ Supply Chain ตอนนี้ไม่ราบรื่น ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดอกเบี้ยก็อาจจะยังสูงไปอีกระยะหนึ่งได้ แต่ก็ยังมีโอกาสในการลงทุนอยู่ แม้จะมีความผันผวนอยู่บ้าง ถ้าเลือกดี ๆ ลงรายละเอียด วิเคราะห์ให้รอบด้านจริง ๆ ก็มีโอกาสอยู่

ไม่ว่าจะเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีจำนวนประชากรวัยแรงงานที่สูง และมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากการที่หลาย ๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปสู่ประเทศนั้น ๆ ต้องเลือกลงทุนในกลุ่มที่กำลังจะเป็นเทรนด์ใหญ่ เช่น การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตรงนั้นก็จะมีโอกาสสำหรับหุ้นที่เกี่ยวข้อง เช่น พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว

BlackRock มองว่า ธุรกิจที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต หรือที่เรียกว่า Mega Forces ได้แก่

1. ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
2. ธุรกิจพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทน Low-Carbon Transition
3. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน และ Robotic ที่จะไม่ถูกกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์
4. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญหาประชากรสูงวัย
5. ธุรกิจการเงินสมัยใหม่

ซึ่งหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำของ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คงหนีไม่พ้น “ประเทศจีน”

ตลาดจีนยังน่าสนใจสำหรับนักลงทุน ในแง่มูลค่าไม่แพง เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือ EM ก็ตาม

นอกจากนี้ ภาครัฐจีนยังคอยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า EV ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และธุรกิจพลังงานสะอาด ที่ทำให้จีนสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวทีโลก ดูน้อยลง