MFC รุกการตลาดสร้าง “แบรนด์” ดึง “เกษตร ชัยวันเพ็ญ” เสริมทัพธุรกิจกองทุน

HoonSmart.com>> “เกษตร ชัยวันเพ็ญ” เสริมทัพ “บลจ.เอ็มเอฟซี” (MFC) นั่ง “ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด” เดินหน้าสร้างการรับรู้ “แบรนด์” ให้รู้จักในวงกว้าง ประสาน 3 ธุรกิจ ต่อยอดลูกค้า รักษาผู้นำธุรกิจกองทุนรวม ในกลุ่มบลจ.ที่ไม่มีแบงก์แม่ เตรียมเปิดตัว “กองทุนนวัตกรรรมใหม่ๆ” อีก 1-2 กองทุน ไตรมาส 4 นี้ พร้อมตั้งเป้า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-กองทุนส่วนบุคคล” ติดกลุ่ม TOP5 ในอุตสาหกรรม

เกษตร ชัยวันเพ็ญ

“เกษตร ชัยวันเพ็ญ” คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจกองทุนมากว่า 30 ปี อดีต “รองกรรมการผู้จัดการ” บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ย้ายสังกัดมาเสริมทัพ รับตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด” คุมสายการขายและการตลาด ในบลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ซึ่งเป็น “บลจ.รายแรก” ของไทยที่ก่อตั้งมาเป็นเวลา 48 ปีและเป็น “บลจ.รายเดียว” ที่จดทะเบียนอยู่ใน “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”

หลังจากพูดคุยและเห็นวิสัยทัศน์ “ธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์” แม่ทัพใหญ่ เอ็มดีหนุ่มไฟแรง จึงตอบรับการทาบทาม หวังผสาน 2 Gen ผลักดันองค์กรก้าวไปข้างหน้า เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา เข้ามาเริ่มต้นการทำงานโดยรับผิดชอบงานด้านการขายและการตลาดใน 3 ธุรกิจหลัก ทั้งกองทุนรวม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล ภายใต้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2.กองทุนส่วนบุคคล 3.Selling Agent (ตัวแทนสนับสนุนการขายหน่วยลงทุน) และ 4.ตัวแทนขาย (IP) วางแผนการลงทุนให้ลูกค้า

ภารกิจจากนี้เดินหน้าเปลี่ยนโฉมธุรกิจบลจ. โดยแยกทีมงานการตลาดออกจากงานการขาย เช่นเดียวกับธุรกิจคอนซูเมอร์โปรดักส์ เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมกองทุนและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เทรนด์ใหม่ๆ รวมถึงความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าและแสวงหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ พร้อมศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจ

“ธุรกิจกองทุนรวม” ตั้งเป้ารักษาผู้นำ บลจ.กลุ่ม Non-Bank

“เกษตร” กล่าวว่า ในธุรกิจกองทุนรวมยากที่จะเป็นเบอร์หนึ่ง หากไม่ใช่ลูกแบงก์ จึงตั้งเป้าเป็นผู้นำในกลุ่มบลจ.ที่ไม่มีแบงก์ซัพพอร์ต (Non-Bank) ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้ เพราะวันนี้ธุรกิจกองทุนรวมเปลี่ยนไป หลายแบงก์จะเปลี่ยนเป็น Universal Bank จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ MFC เป็นผู้นำในกลุ่ม Non-Bank ได้ ซึ่งปัจจุบันกองทุนรวมภายใต้การบริหารของ MFC มีมูลค่าสินทรัพย์ (AUM) ประมาณ 2.34 แสนล้านบาท เป็นบลจ.อันดับ 1 ในกลุ่ม Non-Bank และเป็นอันดับ 7 ของกลุ่มที่รวมลูกแบงก์

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่คุณธนโชติ เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ เราเห็นภาพ MFC เปลี่ยนไปจากที่เน้นออกกองทุนแบบดั้งเดิม (Traditional) กองทุนเทอมฟันด์ กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ กองทุนตราสารทุนในประเทศ ก็เริ่มออกกองทุนรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ป็นตลาดต่างประเทศและยังตอบโจทย์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ไม่ได้ลงทุนแค่ตราสารหนี้ รวมทั้งตอบโจทย์กองทุนส่วนบุคคล และ Selling Agent ด้วย เพราะตอนนี้ Bank ที่เป็น Universal มาแรง ถ้าเราไม่มีกองทุนใหม่ๆ เราจะเสียโอกาส ซึ่งวันนี้เรามีโปรดักส์ที่หลากหลายขึ้น มีธีมการลงทุนใหม่ๆ เช่น กองทุน M-META ที่ลงทุนใน Metaverse” เกษตร กล่าว

แผนงานจากนี้ยังคงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายและเป็นธีมการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งในไตรมาส 4 ปีนี้เตรียมออกกองทุนรวมนวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบ Innovative Product ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในไทย อีก 1-2 กองทุน ซึ่งมองว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมและสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีกองทุนต่างประเทศหลากหลายและแตกต่างจากบลจ.อื่นๆ ที่พร้อมให้เลือกลงทุน เมื่อสถานการณ์ตลาดทั่วโลกพลิกฟื้นกลับมา และการเป็นบลจ.ที่มีขนาดไม่ใหญ่ ทำให้ความคล่องตัวในการออกกองทุนจะรวดเร็วและทันสถานการณ์ตลาด ซึ่งล่าสุดออกกองทุน MUST1 ทริกเกอร์ฟันด์หุ้นสหรัฐ เป้าหมายผลตอบแทน 5% ใน 5 เดือน ตอบโจทย์กลุ่มนักลงทุนที่ชอบผลตอบแทนชัดเจน

พร้อมกันนี้มองว่าสิ่งที่จะตอบโจทย์เทรนด์ในอนาคตได้ คือ ดิจิทัล แอปพลิเคชั่นด้านการลงทุน จึงเดินหน้าพัฒนาแอปพลิเคชั่น “MFC WEALTH” การเปิดบัญชีซื้อขายได้ง่ายและตอบโจทย์ทุกช่วงวัย (GEN) อีกทั้งยังมีฟีเจอร์อื่นอีกมาก ตอกย้ำสโลแกน “MFC เพื่อนสนิททางการลงทุน”

“เป้าหมายของเราอยากสร้าง Brand Awareness ให้ทัดเทียมบลจ.ที่มีแบงก์แม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย ซึ่งคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการกองทุน ชื่อของ MFC ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก ทั้งที่เปิดมา 48 ปีและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จึงจะสร้างการรับรู้ การรู้จักแบรนด์ MFC ไปยังกลุ่มนอกอุตสาหกรรมกองทุนรวม”เกษตร กล่าว

ขณะเดียวกันจะใช้สาขาของ MFC ที่ครอบคลุมทุกภาค ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ที่ใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นที่มีการลงทุนในกองทุนรวมอยู่แล้ว เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (ESG) ทั้งการบริหารองค์กรและในด้านการลงทุน ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนสนใจลงทุนกลุ่ม ESG ซึ่งเรามีกองทุน M-RENEW ที่ลงทุนในพลังงานสะอาดทั่วโลก ซึ่งกองทุนมีโอกาสเติบโตได้มากจากนักลงทุนสถาบัน รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เริ่มให้ความสนใจ

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-ส่วนบุคคล” ติดกลุ่ม TOP5

ด้านธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยง (PVD) มีแผนขยายฐานลูกค้าทั้ง “กลุ่มรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน” ควบคู่กัน ซึ่งลูกค้ารัฐวิสาหกิจนั้น แบรนด์ของ MFC เป็นที่รู้จักอย่างดี ขณะที่กลุ่มบริษัทเอกชนสามารถขยายการเติบโตได้มาก โดยนำเสนอกองทุนประเภท Pooled Fund ซึ่งร่วมกับบริษัทอื่นๆ ด้วยจุดเด่นของความหลากหลายของสินทรัพย์การลงทุนที่มีมากกว่า 20 แบบ ให้ได้เลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละองค์กร เมื่อเทียบกับตลาดที่มีประมาณ 10 แบบ พร้อมทั้งนำเสนอแผนการลงทุนแบบ DIY และแบบสมดุลตามอายุให้เลือก รวมทั้งสามารถใช้แอปพลิเคชั่นด้านการลงทุนเดียวกับกองทุนรวม ไม่ต้องโหลดสองแอปพลิเคชั่น ซึ่งเราพยายามเชื่อมการวางแผนเกษียณกับการวางแผนการลงทุนให้เป็นเรื่องเดียวกัน ให้แอปพลิเคชั่นช่วยตอบโจทย์

ปัจจุบันธุรกิจ PVD ของ MFC อยู่ใน 1 ใน 5 (TOP5) ของตลาด มี AUM อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งพยายามรักษาอันดับไว้และมีโอกาสขยับอันดับขึ้นได้ในปี 2567 จากกองทุนในกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ครบอายุสัญญาจ้างบริหารและเปิดประมูลรอบใหม่ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ค่อนข้างมาก

ส่วนของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (PF) มุ่งเน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มมหาวิทยาลัย องค์กรอิสระและมูลนิธิ ที่มีเงินเหลือต้องการแบ่งเงินลงทุน เพื่อหาผลตอบแทนเพิ่ม จากปัจจุบัน MFC เป็นผู้นำในกลุ่มลูกค้าสหกรณ์มากกว่า 20 แห่ง ที่ได้รับการบอกต่อหลังจากบริหารจัดการได้ผลตอบแทนเป็นที่พอใจ โดยเฉพาะในปี 2563-2564 ที่ทำผลงานได้ดีมาก

“MFC มีกลุ่มลูกค้ามหาวิทยาลัยน้อย เพราะกลุ่มนี้ยังติดที่ ชื่อ หรือแบรนด์กับบลจ.ที่มีแบงก์แม่ อีกทั้งชื่อของ MFC อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มนี้ แต่จากนี้เราจะเข้าไปรุกตลาดนี้มากขึ้น แนะนำตัวเองจากการเป็นบลจ.ในตลาดหลักทรัพย์ นำเสนอผลงานและให้แบ่งเงินบางส่วนมาให้เราบริหารจัดการ”เกษตร กล่าว

ในส่วนของลูกค้ารายบุคคลก็มีให้บริการด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท

ประสาน 3 ธุรกิจต่อยอดเพิ่มลูกค้า

ในส่วนของ Selling Agent มีแผนขยายให้มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตของกองทุนรวม จากปัจจุบันมี Agent มากกว่า 50 ราย ซึ่งเราเชื่อในคอนเซ็ปต์ Fund Supermart ของแบงก์ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เราจึงเข้าหาทุกแบงก์เพื่อนำเสนอกองทุนรวมของ MFC ซึ่งเชื่อว่าหากกองทุนของเรามีผลงานดีและแข่งขันได้แบงก์จะนำไปเป็นทางเลือกให้ลูกค้า

ขณะที่ตัวแทนขาย ปัจจุบันมีทั้งตัวแทนขายประจำและตัวแทนขายอิสระ ซึ่งมีฐานลูกค้าเหนียวแน่นและยาวนาน มีแผนเพิ่ม Share Wallet ให้ใช้ MFC เป็นหลัก ซึ่งปัจุบันเรามีกองทุนที่หลากหลายตอบโจทย์ลูกค้าได้

“สิ่งที่จะทำในปีนี้ คือการประสานงานกันมากขึ้น จากปัจจุบันทำงานแบบแยกส่วนกัน แยกธุรกิจกัน ซึ่งผมมาอยู่ที่นี้อยู่ข้างบนและเห็นภาพ จึงเป็นผู้นำและผสานทุกอย่างให้เชื่อมโยงกันได้ ซึ่งกองทุนรวมมีลูกค้าอยู่แล้ว ก็อาจแนะนำหรือส่งต่อมายังธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคล ในทางกลับกันเวลากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปพบลูกค้า หากต้องการลงทุนเพิ่มเราก็มีเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจกองทุนรวมไปแนะนำพร้อมเปิดบัญชี”เกษตร กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับนั้น ล่าสุด ร่างพระราชบัญญัติ กบช. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ส่งให้สำนักงานคณะกรรมกฤษฏีกา ตรวจสอบแก้ไขนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ รอทางกระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเข้าสภาฯพิจารณาต่อไป คาดว่าเร็วที่สุด ร่าง พ.ร.บ. กบช. น่าจะประกาศได้ปลายปี 2567 และเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ ปลายปี 2568

ปัจจุบัน MFC มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) รวม 4.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 4.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนรวม 2.3 แสนล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1 แสนล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล 4 หมื่นล้านบาท กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 5 หมื่นล้านบาทและธุรกิจทรัสตี 2 หมื่นล้านบาท

ในช่วงที่เหลือของปีนี้มั่นใจว่า AUM ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและทั้งปีน่าจะเติบโตได้มากกว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวม