บลจ.อีสท์สปริง ชู 3 แนวทางหนุนโตแกร่ง กองทุนตอบโจทย์ ดัน AUM ปีนี้ 3.8 แสนลบ.

HoonSmart.com>> “บลจ.อีสท์สปริง” วางกลยุทธ์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผ่าน 3 แนวทาง ชู “กองทุนรวม” หลากหลายสินทรัพย์ตอบโจทย์ จากความเชี่ยวชาญการลงทุนและเครือข่ายระดับโลก ตั้งเป้า AUM สิ้นปีนี้เติบโต 6% แตะ 3.8 แสนล้านบาท มอง “หุ้นไทย” เชิงบวก หลังภาพการเมืองชัดเจนขึ้น คาดดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,590-1,620 จุด ย้ำจัดพอร์ตกระจายลงทุนทั่วโลก พร้อมรับความผันผวน ช่วยกระจายความเสี่ยง

นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อีสท์สปริง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการสุทธิ (AUM) สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 3.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท ครองสัดส่วนการตลาดธุรกิจกองทุนรวมอันดับ 6 อยู่ที่ 6.87% มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 3.3 แสนล้านบาท (ข้อมูล AIMC ณ 31 ธ.ค.2565)

ขณะที่ในปี 2566 นี้ เน้นการจัดบ้าน การเติบโตของธุรกิจจะเป็นแบบ Organic Growth มาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คาดเติบโต 13% จาก 5.7 หมื่นล้านบาท เป็น 6.3 หมื่นล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ซึ่งเราเน้นตลาดคุณภาพ ตั้งเป้าเติบโตจาก 8 พันล้านบาท เป็น 1 หมื่นล้านบาท

“ธุรกิจกองทุนรวมมุ่งเน้นการเติบโตแบบสมดุลไปในหลายสินทรัพย์ ผ่านพอร์ตโฟลิโอ พอร์ตหลักที่เน้นลงทุนหุ้นทั่วโลก ซึ่งเราพยายามเติบโตบน Asset Allocation , Solution เติบโตไปด้วยกันทั้งลูกค้า บลจ.และพนักงาน ซึ่งเราชื่อว่าถ้าเราเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน AUM ก็จะขยับอันดับขึ้นได้ในที่สุด” นางสาวดารบุษป์ กล่าว

ทั้งนี้ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดการลงทุนทั่วโลก และความไม่แน่นอนด้านการเมืองในประเทศ จึงเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมกองทุนรวม ในการแสวงหาสินทรัพย์เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน ในขณะที่บลจ.อีสท์สปริง ภายหลังการควบรวมระหว่างบลจ.ทหารไทยและบลจ.ธนชาตสำเร็จ ได้ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมไปกับการสร้างความแข็งแกร่งของระบบงานภายในเพื่อเสริมศักยภาพ รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการจัดจำหน่าย พร้อมนำเทคโนโลยีมาเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับลูกค้าทั่วไป และลูกค้าสถาบัน

สิ่งที่โดดเด่น คือ การเป็นผู้เชี่ยวชาญในเอเชียที่มีมุมมองการลงทุนระดับโลก (Asia Expert with Global Access) ด้วยจุดแข็งของทีมงานด้านการลงทุนของบลจ.อีสท์สปริง ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 15 ปี ผสานกับเครือข่ายระดับสากลของ Eastspring Investments ประเทศสิงคโปร์ ช่วยตอกย้ำความแข็งแกร่งด้านการลงทุน โดยเฉพาะการสร้างโอกาสในการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Funds หรือ FIFs) ส่งผลให้บริษัทฯ ครองสัดส่วนการตลาดอันดับ 1 ในกลุ่มกองทุนรวม FIF ประเภทตราสารหนี้ มีส่วนแบ่งตลาด 28% ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ มูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านบาท จากกองทุนรวม FIF ทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งครองสัดส่วนการตลาดอันดับ 2 ของอุตสาหกรรม ที่ 17% ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ 1.18 แสนล้านบาท (ข้อมูลจาก AIMC ณ 31 ธันวาคม 2565)

“เรายังเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ครอบคลุมและหลากหลาย จุดเด่นที่สร้างความแตกต่างของเราคือ การมีกองทุนให้เลือกหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ และมีความยืดหยุ่นในการสับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ในหลากหลายรูปแบบ โดยเรามีโปรแกรมช่วยคำนวณการลงทุนสำหรับการแผนการเงินให้เกษียณสุข และ ลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถติดตามผลการลงทุนได้ทุกวัน 24 ชม. ตลอด 7 วัน โดย ส่งผลให้มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ สิ้นปี 2565 กว่า 5.7 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจาก AIMC ณ 31 ธ.ค.2565)” นางสาวดารบุษป์ กล่าว

“วางกลยุทธ์เติบโตแข็งแกร่ง มุ่ง 3 แนวทาง”

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์อีสท์สปริงเป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น มี 3 แนวทาง คือ 1) มุ่งเน้นการสร้างทางเลือก พร้อมกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ที่ประสงค์จะมีอิสระทางการเงินหลังเกษียณ ด้วยทางเลือกที่หลากหลาย และมีคุณภาพ รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการจัดการพอร์ตการลงทุนได้ตามความต้องการผ่าน FundLink Online และ FundLink M Choice ซึ่งในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาชิกจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด โดยสามารถเลือกการลงทุน และปรับสัดส่วนการลงทุนได้ ง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้นจาก PVD Application ใหม่ที่จะเปิดตัวภายในปีนี้

2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็น Best in Class แล้ว บริษัทฯ ยังเตรียมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ผสานประโยชน์ของกองทุนรวมและประกันเข้าไว้ด้วยกันอย่างชาญฉลาด เพื่อเป็นทางเลือกและส่วนประกอบในพอร์ตการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) การนำระบบงานด้านการจัดการลงทุนชั้นนำของโลกเข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยเป็นระบบที่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง ตลอดจนประเมินแหล่งที่มาของผลตอบแทน (Attribution Analysis) บน One Single Platform เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำที่สุด ในการบริหารกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล

“เรามีความร่วมมือในการบริหารพอร์ตสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลกในลักษณะ Multi Asset Portfolio Solutions ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารการลงทุนกว่า 25 ปี มีทีมผู้จัดการลงทุนดูแลกว่า 50 คนในภูมิภาคเอเชีย พร้อมด้วยเทคโนโลยี LOGOS ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยในการจัดพอร์ตและตัดสินใจในการลงทุนของ Eastspring Investments นอกจากนี้เรายังนำระบบด้านการจัดการลงทุนระดับโลก ที่ช่วยวิเคราะห์ด้านความเสี่ยง ตลอดจนประเมินแหล่งที่มาของผลตอบแทนบนแพลตฟอร์มเดียวเพื่อให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำอีกด้วย”นางสาวดารบุษป์ กล่าว

ในปีนี้ บลจ.อีสท์สปริง ประสบความสำเร็จจากผลการดำเนินงานด้านกองทุนรวม คือ การได้รับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2566 ประเภทกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตราสารหนี้ จากวารสารการเงินธนาคาร และด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประเภท Pooled Fund 7 ปีซ้อน (2558-2565) จากการประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่น จัดโดย สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถือเป็นความภูมิใจ และสร้างความมั่นใจว่าบลจ.อีสท์สปริงสามารถบริหารจัดการการลงทุนเพื่อให้เป้าหมายทางการเงินของลูกค้าประสบความสำเร็จ

“หลายตลาดปรับตัวขึ้น ย้ำกระจายการลงทุนหลากสินทรัพย์”

ด้านนายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในช่วงต่อจากนี้ ในมิติของเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวแต่อาจไม่ถึงกับถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจจีนถึงแม้จะเติบโตต่ำกว่าที่คาด แต่เริ่มเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังเริ่มทยอยออกมา ทำให้ภาพของเศรษฐกิจโลกอาจเป็นลักษณะของการชะลอตัว

ในส่วนของเงินเฟ้อที่กดดันธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกในปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ในปีนี้เงินเฟ้อเริ่มเห็นการชะลอตัวอย่างชัดเจน ส่งผลให้ปีนี้โดยเฉพาะไตรมาส 3 อาจเป็นการจบรอบของดอกเบี้ยขาขึ้นโดยเฉพาะฝั่งของสหรัฐฯ และอาจรวมถึงยุโรปด้วย อย่างไรก็ตามประเมินว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงอีกสักระยะ ส่งผลให้การลงทุนยังมีความผันผวน

“หากไปดูภาพของการลงทุนเราเริ่มเห็นการหยุดปรับประมาณการกำไรลดลงของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะสหรัฐฯและยุโรปที่เริ่มมีการปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้น ขณะที่ระดับมูลค่าการซื้อขาย (P/E) บางดัชนีของตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มสูงขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยที่เป็น Fair Value เช่น ตลาดหุ้นโลก ตลาดหุ้นเอเชียและยังมีบางตลาดที่ถือว่าอยู่ในระดับที่ยังถูกกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง เช่น ตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นต้น” นายยิ่งยงกล่าว

ส่วนตลาดหุ้นจีน อย่ารีบมองบวกจนเกินไปหรือมองลบจนเกินไป แม้จีนยังมีปัญหาอยู่หลายด้าน โดยมี 2 ประเด็นที่น่าจับตามองคือ ความเสี่ยงใน 2 ส่วนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ และภาคการกู้ยืมเงินของรัฐบาลท้องถิ่น ตลาดจึงจับตาถ้าจีนยังมาด้วยมาตรการเบาๆ ไม่น่าจบ แต่ต้องแรงและตรงจุดในภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นในระยะสั้นการลงทุนในหุ้นอาจชะลอดูสถานการณ์ก่อน

ส่วนตลาดหุ้นไทย ภาพการเมืองชัดเจนขึ้นในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยและน่าสนใจมากขึ้นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยมองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,620 จุด

“คำแนะนำการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า การลงทุนยังมีความน่าสนใจ แต่ด้วยระดับราคาที่ขึ้นมาพอสมควรอาจต้องมีการกระจายการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดการกระจุกตัวในการลงทุนในสินทรัพย์ใดเพียงอย่างเดียว หรือตลาดใดเพียงอย่างเดียว” นายยิ่งยง กล่าว

“มองเป้าหุ้นไทย 1,620 จุด – 3 ประเด็นดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน”

นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยหลังจากได้นายกรัฐมนตรีแล้ว มองไปที่ 3 เรื่องที่จะสร้างความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องแรก รอดูหน้าตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ละกระทรวง

เรื่องที่สอง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น จากปัจจุบันไทยได้อานิสงส์จากภาคท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวยังตามเป้าแต่ไม่ได้มาจากนักท่องเที่ยวจีน แต่เป็นมาเลเซีย ซึ่งชดเชยไม่ได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนมีการใช้จ่ายสูงมากที่สุด ขณะที่ภาคส่งออกไทยยังติดลบ จึงต้องหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นประคองไว้

ส่วนเรื่องที่สาม มาตรการระยยาว ซึ่งสำคัญมากเป็นมาตรการที่จะสร้างรายได้ระยยาว ซึ่งจะทำให้ประเมินทิศทางหุ้นและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ หากมีครบ 3 เรื่องเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจด้านเศรษฐกิจให้แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้น

“เบื้องต้นคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,590-1,620 จุด กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) 90 บาท และ Forward P/E 17 เท่า กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจลงทุนเป็นหุ้นขนาดใหญ่ เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม สุขภาพ กลุ่มเกี่ยวข้องการบริโภคในประเทศ รวมถึงหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ ที่คาดว่าจะได้รัประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว “นายบดินทร์ กล่าว

 
 

อ่านข่าว

“บลจ.อีสท์สปริง” คัด 4 ธีมเด่น จัดพอร์ตกระจายลงทุนส่งท้ายปี