HoonSmart.com>> CGSI เพิ่มเป้าดัชนี SET ปีนี้ จาก 1,420 จุด เป็น 1,480 จุด แรงหนุนจากดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ลงเร็วกว่าคาด เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก คาดดัชนีปี 68 เพิ่มขึ้นแตะ 1,630 จุด ชู 11 หุ้นเด่น ด้านเอกชน หอการค้าไทย สภาหอการค้าฯและสมาคมภาคเอกช นรวมพลังเรียกร้อง ธปท.ลดดอกเบี้ย เงินบาทแข็ง 10% แข่งขันส่งออกไม่ได้ นักท่องเที่ยวหนี สินค้าเกษตรและอาหารเสียหายแล้ว 50,000 ล้านบาท หากบาทแข็งลากยาวถึงสิ้นปี อาจหายไปถึง 1.3-1.4 แสนล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (CGSI) ปรับเพิ่มเป้าหมาย SET Index ปีนี้เป็น 1,480 จุด จากเดิม 1,420 จุด มองหุ้นไทยจะมีแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไทยและสหรัฐฯ เร็วกว่าคาด และเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นอีก ขณะที่คาด SET Index ปี 68 จะอยู่ที่ 1,630 จุด
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 50bp เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ Bloomberg consensus คาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 25-50bp และ 25-50bp ในการประชุมสองครั้งถัดไป จึงคาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันมองว่าการที่เศรษฐกิจไทยอ่อนตัวและเงินบาทแข็งค่า น่าจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bp เป็น 2.25% ในการประชุมวันที่ 16 ต.ค.67 นี้
เชื่อว่าการที่เงินลงทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยมากขึ้น จะเป็นผลดีกับหุ้น big cap เช่น หุ้นในกลุ่มธนาคารและกลุ่มอุปโภคบริโภค จึงเพิ่มหุ้น KBANK และ CPN เข้ามาอยู่ในรายชื่อหุ้น Top pick นอกจากนี้มองว่า sentiment ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์น่าจะดีขึ้น จึงได้เพิ่มหุ้น SIRI เข้ามาในรายชื่อหุ้น Top pick ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทไทยน่าจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่มส่งออก, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI เชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 อาจชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ของรัฐบาล วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท น่าจะต้องเลื่อนไปเป็นปีหน้า อย่างไรก็ตามแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไทยและสหรัฐฯเร็วกว่าคาด และการที่เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นอีก ในปี 67-68 จึงปรับเพิ่มเป้าดัชนี SET สิ้นปี 67 นี้เป็น 1,480 จุด เท่ากับ P/E 16 เท่าในปี 68 หรือ -0.75SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี จากเดิม 1,420 จุด เท่ากับ P/E 15 เท่าในปี 68 , – 1SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี
ขณะที่สิ้นปี 68 นั้น มองเป้าหมายดัชนี SET อยู่ที่ 1,630 จุด เท่ากับ P/E 16 เท่าในปี 69 หรืออยู่ที่ -0.75SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปีเช่นกัน สำหรับรายชื่อหุ้น Top pick ประกอบด้วย AMATA, BBL, BCH, CBG, CPALL, CPN, CRC, KBANK, KLINIQ, PTTEP และ SIRI
ทางด้านหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมภาคเอกชน แถลงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากกับการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งมากขึ้น 8-10 % อย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33 บาทส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร/อาหารไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้น จะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง อาจจะเลือกไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าและคุ้มค่ามากกว่านั้น
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 1% ต่อปี กระทบรายได้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นกว่า 0.5% ของ GDP ปกติ จึงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกทันที โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว-แรงที่ 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00% น่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ค่าเงินบาทไม่แข็งจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
“เงินบาทแข็งค่าที่ราว 33 บาท/ดอลลาร์ กระทบรายได้ส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารหายไปแล้วราว 50,000 ล้านบาท และอาจหายไปถึง 1.3-1.4 แสนล้านบาท หากเงินบาทยังแข็งค่าอยู่ในระดับนี้ต่อไปจนถึงสิ้นปี ใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่จะเข้ามาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์กล่าว
นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งมากถึง 10% ราคาไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญได้ เช่น เวียดนาม แข็งค่า 3.7% อินเดียอ่อนลง 0.6% และปากีสถานแข็งเพียง 1% ซึ่งทุก 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาข้าว FOB เพิ่มขึ้นถึง 15 ดอลลาร์/ตัน ถ้าปีหน้าอินเดียวกลับมาส่งออกข้าวได้ตามปกติ ในขณะที่ค่าเงินอ่อน จะกระทบไทยหนักมาก อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้ ไทยอาจส่งออกข้าวได้ถึง 9 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8-8.5 ล้านตัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2567 ไทยจะยังเผชิญการขาดดุลการค้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดย 7 เดือนแรกของปีนี้ไทยขาดดุลไปแล้ว -6,616 ล้านดอลลาร์ฯ (-23%YoY) จากปัจจัยต่อไปนี้
1. ไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิโดยไทยจะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นราว 4,000 ล้านดอลลาร์ฯ หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นทุก 10 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล สำหรับปี 2567 ไทยยังขาดดุลการค้าเนื่องจากราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูงแม้ได้ปรับลงจากปี 2565 ที่ความขัดแย้ง
รัสเซีย-ยูเครนเริ่มขึ้น
2.ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เมื่อพิจารณาสินค้าที่มีดุลการค้ามากที่สุด 10 อันดับแรก ในปี 2566 พบว่า สินค้าสำคัญหลายตัวมีแนวโน้มที่จะได้ดุลการค้าลดลง เนื่องจาก
ความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลกลดลง จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิHard Disk Drive ที่ในอนาคตจะมีการเข้ามาแทนที่ของ Solid State Drive ซึ่งไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิต นอกจากนี้ ความต้องการใช้รถยนต์สันดาปซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตนั้นลดลง โดยตลาดมีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดมากขึ้น
การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยไทยมีการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าและความซับซ้อนไม่มากนักอย่างสินค้าเกษตรที่กำลังเผชิญกับการแข่งขันด้านราคา ประกอบกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าของประเทศคู่แข่ง อาทิข้าว ทุเรียน และยางพารา ที่มีตลาดอื่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด