“ฟิทช์” อาจทบทวนอันดับเครดิต A+ ของจีน

HoonSmart.com>> “ฟิทช์เรทติ้งส์” อาจพิจารณาทบทวน “การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” A+ ของจีน ท่ามกลางอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นต่อประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย หากภาวะหนี้ภาคธุรกิจในประเทศเลวร้ายลง

ในการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg TV เมื่อวันพุธเจมส์ แม็คคอร์แมค กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั่วโลกของ ฟิทช์กล่าวว่า ขณะที่หนี้ภาครัฐปัจจุบันอยู่ในระดับที่รับได้ แต่ภาวะหนี้ภาคธุรกิจที่แย่ลงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยง หากรัฐบาลขยายงบดุล เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ

แมคคอร์แมคกล่าวว่า “หากภาระผูกพันเหล่านี้บางส่วนในภาคธุรกิจอื่น ที่ไม่ใช่ภาคการเงิน และในธนาคารเอง กลายเป็นหนี้สินที่แท้จริงสำหรับรัฐบาล หากขยายงบดุลเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจจริง ๆ … เราอาจพิจารณาอีกครั้ง เพราะอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพียังคงสูงไปเล็กน้อยสำหรับอันดับเครดิตที่ระดับ A”

แต่แม็คคอร์แมคกล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลวางแผนที่จะขยายงบดุลไปสู่ระดับการสนับสนุนนโยบาย และฟิทช์ก็ไม่ได้คาดการณ์ว่าจะมีการดำเนินการจากทางการในระยะเวลาอันใกล้นี้

แม็คคอร์แมคชี้ว่า หนี้ภาครัฐยังคงอยู่ในระดับสูง โดยฟิทช์ประมาณการว่าระดับหนี้จะตรึงไว้ที่ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศโดยรวม เมื่อเดือนธันวาคม ฟิทช์คงอันดับเครดิตของจีนที่ A+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)เนื่องจากจีนได้ยกเลิกนโยบายปลอดโควิดที่เข้มงวดแล้ว

แม็คคอร์แมคให้ความเห็นท่ามกลางสัญญาณของวิกฤติหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน โดยบริษัทคันทรี การ์เด้น โฮลดิ้งส์(Country Garden Holdings) ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ขาดทุนอย่างหนักในครึ่งปีแรก และระงับการซื้อขายพันธบัตรต่างประเทศ 11 รุ่น เนื่องจากอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้

บริษัทยังผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้บางรุ่นเมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้จีนในวงกว้าง ซึ่งเกิดจากการอาจผิดนัดชำระหนี้

แม้จีนคาดว่าปัญหาของคันทรี่ การ์เด้น จะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่แม็คคอร์แมคกล่าวว่าภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โรัฐบาลกำลังพยายามที่จะให้เศรษฐกิจจีนลดการพึ่งพาอสังหาริมทรัพย์ และไม่น่าจะขยายนโยบายสนับสนุนในวงกว้างสำหรับภาคธุรกิจนี้

ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวก็มีผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างมากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 นอกจากนี้ การเติบโตยังคาดว่าจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก เนื่องจากภาคธุรกิจนี้เผชิญกับอุปสรรคอย่างต่อเนื่องจากยอดขายที่ชะลอตัวและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง ภาคอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ