สรรพากรยกระดับเก็บภาษีรายได้ ‘ลงทุนตปท.’ นักลงทุนไม่นำเงินเข้ามา หนีไม่พ้น!!

HoonSmart.com>>กรมสรรพากรยกระดับเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศ ทั้งคนไทย-ต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยมาก กว่า 180 วัน เดิมหากไม่นำรายได้เข้ามาก็ไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นการลงทุนผ่านกองทุนรวม เริ่มจัดเก็บปี 68 เล็งเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำอัตราแท้จริงไม่น้อยกว่า 15% อธิบดีเผยผลงานเก็บภาษี 11 เดือนงบประมาณปี 2567 จำนวน  1.96 ล้านล้านบาททะลุเป้า ผลงานเจ้าหน้าที่และเทคโนโลยี คาดปีนี้เพิ่มอีก 4.2% เป็น 2.37 ล้านล้านบาท

ดร. กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรกำลังเร่งแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้คนไทยและต่างประเทศที่อยู่ในประเทศ ไทยเกิน 180 วัน ที่มีรายได้ต่างประเทศ จะต้องนำรายได้มาเสียภาษี ไม่ว่าจะนำรายได้เข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ตามหลักการของ Worldwide Income เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความทั่วถึงในการจัดเก็บภาษีอากร ถือเป็นยกระดับจากเดิม หากไม่นำเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศเข้ามาก็ไม่ต้องเสียภาษี พยายามจะเริ่มเก็บภาษีส่วนเพิ่มนี้ได้ในปี 2568

อย่างไรก็ตาม ยังคงยกเว้นรายได้จากการลงทุนจากต่างประเทศ ให้กับธนาคารพาณิชย์ รวมถึง นักลงทุนที่มีการลงทุนผ่านกองทุนรวม

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอกฎหมาย เพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15%

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2567   (ต.ค. 2566 – ส.ค.2567) กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้กว่า 1,963,205 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณฯ 8,482 ล้านบาทหรือ 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 47,911 ล้านบาทหรือกว่า 2.5%  ส่วนหนึ่งสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น ประกอบกับมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ มาตรการ “Easy E-Receipt”ที่ช่วยเหลือประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice & e-Receipt)
สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2567 และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่เป็นแรงส่งต่อการจัดเก็บ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า  7.7% ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังไม่มีนโยบายจัดเก็บภาษีการซื้อขายหลักทรัพย์ และการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

สำหรับเป้าหมายในปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 2.372 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณก่อน 4.2%

“กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายไว้เป็นส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางการคลังท่ามกลางสถานการณ์ที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ที่กว่า  3.2%แต่ล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ปรับลดเหลือเพียง 2.5% จากครึ่งปีที่ขยายตัวต่ำที่เพียง 1.9% ถือเป็นความสำเร็จ จากความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร รวมถึงการขับเคลื่อนองค์กรที่นำเทคโนโลยีมายกระดับการบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง”

กรมสรรพากรได้นำเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุตัวผู้เสียภาษี ที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษี พร้อมกับส่งจดหมายแจ้งเตือนผู้เสียภาษีให้เข้าสู่ระบบภาษีหรือให้ชำระภาษีตามกำหนดเวลา การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีในการตรวจสอบและ Pre-Fill ข้อมูลเงินได้สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านระบบ My Tax Account สำหรับผู้เสียภาษีที่ยืนยันตัวตนด้วย Digital ID
ช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลทางภาษีได้สะดวกขึ้น

ปัจจุบันกรมสรรพากรได้มีกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษี “SMILE RD” ซึ่งเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2567
S : Simplification การทำภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อ
M : Modernization มีความทันสมัย
I : Inclusivity and Innovation มีความทั่วถึง และมีนวัตกรรมด้วย
L : Legality and Compliance ถูกต้องตามระเบียบและข้อกฎหมาย
E : Efficiency มีประสิทธิภาพ
R : Responsiveness ตอบสนองความต้องการทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เสียภาษี
D : Digitization ปรับองค์กรมุ่งสู่ Digital First

นอกจากนี้กรมสรรพากรยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบาย “oneRD : ONE TEAM ONE SEAMLESS TAX ECOSYSTEM” ตามที่ปลัดกระทรวงการคลังได้ริเริ่มไว้ ทำภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้นเตรียมความพร้อมสู่ระบบภาษีอากรที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงต้นปี 2568 กรมสรรพากรจะยกระดับบริการทางภาษีและแสดงข้อมูลทางภาษีให้ครบถ้วน โดยเปิดให้บริการ One Portal : My Tax เริ่มให้บริการกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต่อยอดการกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 ทางอิเล็กทรอนิกส์ เท่านั้น ซึ่งได้เริ่มใช้ในปีที่ผ่านมากับแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 กและ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ

นอกจากนี้ ได้วางแผนการพัฒนา น้องอารีย์ Chatbot ด้วยการนำ ChatGPT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการตอบคำถาม ในมิติของการทำงานของเจ้าหน้าที่ กรมสรรพากรยังมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการใช้เทคโนโลยี AI กับการประมวลผลข้อมูลภายในของกรมสรรพากร ร่วมกับข้อมูลที่ได้รับจากการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนจากภายนอก เช่น ข้อมูลบัญชีทางการเงินที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ข้อมูลบัญชีพิเศษจากอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ข้อมูลที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศแบบอัตโนมัติเป็นต้น ในการประเมินและวิเคราะห์หาพฤติกรรมของผู้เสียภาษี ซึ่งจะช่วยเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรในการจัดกลุ่มผู้เสียภาษีตามความเสี่ยงและสามารถเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในมิติต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบก่อนการคืนเงินภาษี หากเป็นผู้เสียภาษีกลุ่มเสี่ยง ก็จะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนคืนเงินภาษี