ธ.กสิกรไทยไฟเขียว ฟื้นฟูกิจการ “เฟ้ลปส์ ดอด์จ”

HoonSmart.com >> บอร์ดแบงก์กสิกรไทย เคาะฟื้นฟูกิจการธุรกิจสายไฟแรงสูง “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” กิจการในเครือ STARK  ร่างหนังสือของสำนักงานก.ล.ต.ปลดล็อกคำสั่งอายัดทรัพย์เฟ้ลปส์ ดอด์จ ทั้งหมด เพื่อให้การฟื้นฟูราบรื่น

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย  (บอร์ด) เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระสำคัญการฟื้นฟูกิจการบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าแรงสูงในกลุ่มบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ซึ่งบอร์ดอนุมัติให้มีการฟื้นฟูกิจการ โดยธนาคารกสิกรไทย เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อันดับ 1 ของเฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่มียอดหนี้เบิกใช้แล้ว จำนวน 9,200 ล้านบาท

สำหรับธนาคารเจ้าหนี้อื่น ๆ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารยูโอบี และธนาคาร ICBC  ธนาคารส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการฟื้นฟู มีเพียงธนาคารไทยพาณิชย์ เพียงรายเดียว ซึ่งไม่มีหลักประกัน ต้องมีการหารือการฟื้นฟู แต่คาดว่า จะเห็นด้วยกับแบงก์ส่วนใหญ่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เฟ้ลปส์ ดอด์จ มีหนี้ที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูทั้งกลุ่ม รวมกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ของเฟ้ลปส์ ดอด์จ ประมาณ 17,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้กลุ่มบริษัทลูก ๆ 5,000 ล้านบาท

การทำแผนฟื้นฟูดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้ทำแผน โดยให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส  เป็นที่ปรึกษาการเงินจัดทำแผนฟื้นฟู , บริษัท สยามพรีเมียร์  เป็นที่ปรึกษากฎหมาย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แม้ว่าธนาคารกสิกรไทย เห็นชอบให้ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ยังติดคำสั่งอายัดทรัพย์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หากยังไม่ปลดอายัด การฟื้นฟู ไม่สามารถทำได้ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ผ่อนผันให้มีการจ่ายเงินเดือนพนักงานเฟ้ลปส์ ดอด์จ แล้ว โดยอนุมัติเป็นรายกรณีไป ซึ่งต้องใช้เวลาพิจารณาหลายวัน

” การฟื้นฟูเฟ้ลปส์ ดอด์จ อันดับแรก เพราะเป็นธุรกิจหลักในการทำเงินให้กับ STARK เมื่อเฟ้ลปส์ ดอด์จ แข็งแกร่งแล้ว ทำให้ธุรกิจอื่น ๆ ในกลุ่มดีขึ้น ส่วน STARK ซึ่งเป็นโฮลดิ้งส์ ก็ต้องทำส่วนของผู้ถือหุ้นให้เป็นบวก ตามแนวทางที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ โดยทำคู่ขนานไปกับการฟื้นฟูเฟ้ลปส์ ดอด์จ” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายอรรถพล  วัชระไฟโรจน์ กรรมการ STARK แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ว่า ผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบว่า เงินเพิ่มทุนที่เสนอขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 1,500 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.72 บาท รวม 5,580 ล้านบาท ได้รับเงินสุทธิ 5,454 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2565  นำไปชำระ Letter of credit สำหรับเจ้าหนี้การค้า เพื่อซื้อวัตถุดิบ จำนวน 4,071 ล้านบาท และชำระคืนหุ้นกู้ ชุดที่ 3 (Stark 23206A) พร้อมดอกเบี้ย 1,509 ล้านบาท ในปี 2566 ตามที่ปรากฎในหมายเหตุประกอบงบการเงินปี 2565 ของบริษัท

ทั้งนี้จะพบว่า เงินเพิ่มทุน 5,580 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปซื้อธุรกิจสายไฟฟ้า LEONE ในเยอรมัน หากนำไปใช้อย่างอื่น ต้องเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้เงิน ซึ่งภายหลัง STARK ได้มีการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ กระทั่งเงินก้อนดังกล่าว ถูกนำไปใช้หมดเกลี้ยงเพื่อซื้อวัตถุดิบและชำระคืนหุ้นกู้

ด้านการตรวจสอบเส้นทางการเงินของ CY หัวหน้าบอร์ดบริหารของ STARK จากการทำ Forensic Audit พบว่า CY ได้เข้าลงทุนในบริษัท ซิริอุส ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ด้านไอที มีการนำเงินออกจากบริษัท เอ็ม เอ็ม ลอจิสติกส์ ของนายวนรัตน์ ตั้งคารวคุณ รวม 3 ครั้ง ช่วงเดือน พ.ค. 2564 , พ.ย. 2565 รวม 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โอนเข้าบริษัท เอ็ม เอ็ม ออยล์ แอนด์ แก๊ส ในสิงคโปร์ ก่อนจะโอนเข้า ซิรีอุส เทคโนโลยี ในสิงคโปร์ ซึ่งซิรีอุส สิงคโปร์ ได้บันทึกบัญชีว่าเป็นหุ้นของ CY

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แฟซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง (APDE) ในเดือน มี.ค. 2565 จำนวน 67.5 ล้านบาท และธ.ค. 2565 จำนวน 53.7 ล้านบาท เข้าบริษัท ซิริอุส เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) โดยเงินที่โอนจาก APDE ทั้ง 2 ครั้งรวม 121.2 ล้านบาท พบว่าเป็นสัญญากู้เงินระหว่าง APDE (ผู้ให้กู้) และ ซิรีอุส (ผู้กู้) โดยซิรีอุส จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้รายเดือน โอนเข้าบัญชีส่วนตัวของ CY  ธนาคารลูกแบงก์แห่งหนึ่ง รวม 10 ครั้ง ช่วงเดือนเม.ย.-ธ.ค. 2565 รวมเป็นเงิน 6.9 ล้านบาท เศษ

และจากอีเมลล์ที่ตรวจพบ ช่วงเดือนพ.ย. 2565 ส่งจากซีอีโอของ ซิรีอุส ส่งถึงคนสนิทของ CY พร้อมเอกสารอัพเดทการลงทุนของ CY สรุปมูลค่าการลงทุนในซิรีอุสของ CY รวม 7.163 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ ต้นเดือนพ.ย. 2565 นอกจากนี้ ยังมีการขอกู้เงินเพิ่มทุนจาก CY จำนวน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวอ้างสัญญาแบ่งผลประโยชน์ 3 ฝ่ายของ วนรัตน์ และคนสนิท ที่ระบุส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการขายหุ้น STARK ที่นายวนรัตน์ แบ่งให้ เก็บไว้ที่สำนักงานกฎหมายชื่อย่อ  L ซึ่งคนสนิท CY เป็นผู้จัดทำนั้น  นายวนรัตน์ ไม่เคยเห็นสัญญาดังกล่าว