เงินทะลักเข้า “เทอมฟันด์” ในประเทศ Q2/66 พุ่ง 1.3 แสนลบ.

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ” เผยกองทุนรวมไตรมาส 2/66 เงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาท กองทุนตราสารหนี้ไทยที่กำหนดอายุโครงการ (เทอมฟันด์) ยอดนิยม “Bond Fix Term และ Capital Protected Fix Term” เงินไหลเข้ารวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท ด้านกองทุนหุ้นต่างประเทศ เริ่มมีแรงขายทำกำไรหลังดัชนีปรับตัวขึ้นสูงในหลายตลาด “บลจ.ยูโอบี” มองตราสารหนี้น่าสนใจดอกเบี้ยใกล้พีค “เทอมฟันด์” ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก นักลงทุนแพ่พักเงิน 6 เดือนรอดูทิศทางตลาด

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.9 ล้านล้านบาท แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสที่แล้ว โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจกับกองทุนตราสารหนี้ โดยเฉพาะ กองประเภท Bond Fix Term และ Capital Protected Fix Term ซึ่งลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ทั้งสองกลุ่มนี้มีเงินไหลเข้ารวมสูงกว่า 130,000 ล้านบาท โดยทั้งสองกลุ่มเป็นเงินไหลเข้าจาก บลจ.ไทยพาณิชย์ 4.9 หมื่นล้านบาท, บลจ.กรุงศรี 2.3 หมื่นล้านบาท, และ บลจ.กรุงไทย 1.9 หมื่นล้านบาท

รองลงมาคือกองทุนหุ้นจีน ที่ถึงแม้ยังให้ผลตอบแทนที่ติดลบมาทั้งปีเฉลี่ย -9.3% ก็ยังมีเงินไหลเข้าติดเป็นอันดับ 3 กว่า 3,500 ล้านบาท ขณะที่กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่เริ่มมีเงินไหลเข้าเกือบ 2 พันล้านบาท

ในทางกลับกัน กองทุน Foreign Investment Bond Fix term มีเงินไหลออกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท ตามด้วยกลุ่ม Flexible Bond และ Money Market ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีเงินไหลออกต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ด้านกลุ่มกองทุนหุ้นต่างประเทศซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีมาตั้งแต่ต้นปี เริ่มเห็นภาพเงินไหลออก นำโดยกองทุนหุ้นโลก กองทุนหุ้นญี่ปุ่น และกองทุนหุ้นเทคโนโลยี โดยทั้ง 3 กลุ่ม ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย YTD +11.15%, 18.44% และ 30.14%

กองทุนหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนค่อนข้างโดดเด่นในไตรมาสนี้ เฉลี่ย +11.90% อีกทั้งในระยะยาว 3 ปีก็ให้ผลตอบแทนกว่า 11% ต่อปี ด้านกองทุนหุ้นเทคโนโลยี และกองทุนหุ้นสหรัฐ ก็ให้ผลตอบแทนไม่ด้อยกว่ากัน โดย YTD +30% และ 20% ตามลำดับ ในทางตรงกันข้าม กองทุนหุ้นจีน ถึงแม้จะมีเงินไหลเข้าต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ก็ตาม แต่ผลตอบแทนทั้งระยะสั้นและยาว ก็ทำให้นักลงทุนผิดหวังไปตามๆกัน


นายกุลฉัตร จันทวิมล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ กลับมาออกกองทุนตราสารหนี้ที่กำหนดอายุการลงทุนหรือเทอมฟันด์ เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนที่รอจังหวะตลาด ซึ่งมองกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเงินฝาก ขณะที่เทอมฟันด์ที่ออกอายุสั้นประมาณ 6 เดือน ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลผลตอบแทนเฉลี่ย 1.75% ต่อปี และแนวโน้มยังออกกองทุนได้ต่อจนกว่าดอกเบี้ยเงินฝากจะขยับปรับขึ้นมาทัน ซึ่งยังต้องใช้เวลา

ทั้งนี้ บลจ. ยูโอบี แนะนำให้ลดเงินสดและเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนทั่วโลก เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในตราสารหนี้ที่น่าสนใจในช่วงวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะผ่านจุดสูงสุดโดยเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระดับ Investment Grade ที่มีคุณภาพเพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ในระยะข้างหน้าที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวสูง และปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด

บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ยังอยู่ระหว่างเสนอขายกองทุนเปิด ยูไนเต็ด อินคัม ฟันด์ TH หน่วยลงทุนชนิดรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบปกติ (UIFT-N) ทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในกองทุนหลักที่สามารถสร้างกระแสรายได้ที่สม่ำเสมอ ผ่านการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก เปิดเสนอขายครั้งแรก 24- 31 ก.ค.2566

กองทุนจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน United Income Fund Class T USD Acc (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียวโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนหลักจะบริหารจัดการโดย UOB Asset Management Ltd ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระแสรายได้สม่ำเสมอและการกระจายความเสี่ยงผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกที่มีความหลากหลายทั่วโลก กองทุนหลักมีแนวทางการลงทุนอย่างสมดุลในตราสารทุนประมาณ 50% และตราสารหนี้ประมาณ 50% (สัดส่วนเพิ่มลดได้ +/- 20%) โดยลงทุนในตราสารทุนที่มีโอกาสรับเงินปันผลที่ดีและสร้างโอกาสเติบโตของเงินลงทุน และตราสารหนี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน