TTB ฟันกำไร 4,566 ล้านบ. โต 33% ตั้งสำรองลดลง Q2/66

HoonSmart.com>>ดีเกินคาด!ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB) โชว์ไตรมาส2/66 โกยกำไร 4,566 ล้านบาท รวม 6 เดือนแรก กำไร 8,860.8 ล้านบาท เติบโต 33 % จากรายได้เพิ่มขึ้น การบริหารค่าใช้จ่าย การตั้งสำรองฯ ที่ลดลงตามคุณภาพสินทรัพย์  คุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ระดับต่ำที่ 2.63%  สภาพคล่อง-ฐานเงินกองทุนสูงมาโดยตลอด  แผนครึ่งปีหลังเน้นการเติบโตสินเชื่อ บริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ บล.ฟินันเซียฯมองกำไรสูงกว่าตลาดคาด 10% คงเป้าราคา 1.83 บาท ติด top pick 

ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) รายงานผลงานงวดไตรมาสที่ 2/2566 มีกำไรสุทธิ 4,566 ล้านบาท คิดเป็นกำไรหุ้นละ 0.0472 บาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,128 ล้านบาทหรือ เติบโต 32.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 3,438 ล้านบาทหรือ 0.0356 บาท ส่วนผลงานรวม 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 8,860.8 ล้านบาทหรือ 0.0916 บาท เพิ่มขึ้นจำนวน 2,227.8 ล้านบาท หรือ 33.58% ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 4,244 ล้านบาท ลดลง 3.2% จากปีก่อนหน้า รวม 6 เดือนแรก ตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 8,520 ล้านบาท ลดลง 7.3% จากปีก่อนหน้า

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงรักษาแนวโน้มการเติบโตด้านรายได้และกำไรในแต่ละไตรมาสได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความสำเร็จจากการกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม และความคล่องตัวในการปรับกลยุทธ์การบริหารพอร์ตทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน   เพื่อรับมือกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นได้เป็นอย่างดี

ธนาคารใช้ 2 กลยุทธ์หลักในการบริหารพอร์ต เพื่อหนุนรายได้ดอกเบี้ย ได้แก่ การรีไซเคิลเงินทุน หรือ การหมุนเวียนนำเอาสภาพคล่องที่ได้รับกลับมาจากการชำระคืนหนี้ไปปล่อยกู้ให้กับสินเชื่อใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อ โดยไม่จำเป็นต้องเร่งเติบโตสินเชื่ออย่างรวดเร็วจนอาจนำมาซึ่งปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์ในภายหลัง ณ สิ้นเดือนมิ.ย.สินเชื่ออยู่ที่ 1,364 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อรายย่อยเติบโตได้ที่ 0.5%

ในด้านเงินฝากธนาคารใช้กลยุทธ์การขยายฐานเงินฝากล่วงหน้าก่อนที่จะเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยได้ทยอยเพิ่มเงินฝากประจำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงไม่ต้องเร่งขยายเงินฝากมากนักในปีนี้ ช่วยควบคุมต้นทุนเงินฝากได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 เงินฝากอยู่ที่  1,395 พันล้านบาท ชะลอลงเล็กน้อยหรือราว 0.5% จากไตรมาสที่แล้ว เป็นไปตามแนวทางการบริหารต้นทุนเงินฝากและสภาพคล่องให้เหมาะสมกับทิศทางสินเชื่อ  ปัจจุบันธนาคารยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกิน สะท้อนได้จากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับ 98%

“ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปี ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายและให้ภาพการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง  จากกลยุทธ์ด้านสินเชื่อและเงินฝาก รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินและพอร์ตการลงทุนในเชิงรุก เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวเช่นกัน หนุนให้รายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 17,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% จากไตรมาส 2/2565 รวม 6 เดือน รายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 34,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4%”นายปิติกล่าว

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจจะยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกอยู่เป็นระยะ ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพลูกหนี้ของระบบธนาคารและสถาบันการเงินไทย สำหรับทีทีบีนั้น ที่ผ่านมาเราเน้นการเติบโตสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสินเชื่อในเชิงรุก นอกจากนั้นธนาคารยังมีแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบค่อยเป็นค่อยไป และยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ส่งผลให้ลูกค้าสามารถกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติ

“คุณภาพพอร์ตสินเชื่อทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยจึงยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีสัญญาณถดถอยหรืออยู่นอกเหนือระดับควบคุม ปัจจุบันอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงมาอยู่ที่ 2.63% จาก 2.98% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในช่วงโควิด-19 ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 144% จาก 121% บ่งบอกถึงกันชนรองรับความเสี่ยงที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารยังคงเน้นการเติบโตสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ และจากการเตรียมการเพื่อรับมือกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและแรงกดดันด้านการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง จึงมองว่าจะสามารถรักษาโมเมนตัมเชิงบวกของผลการดำเนินงานได้ต่อไป ทั้งนี้ ธนาคารจะยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบาง รวมถึงสนับสนุนแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทยในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของทีทีบีที่ต้องการผลักดันให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ด้านความเพียงพอของเงินกองทุน อัตราส่วน CAR และ Tier 1 (เบื้องต้น) ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 20% และ 16% ซึ่งสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ

นักวิเคราะห์บล.ฟินันเซียไซรัส มองกำไรของ TTB ดีกว่าที่คาด 5% และดีกว่า consensus คาด 10% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) และ NIM ที่สูงขึ้นมาที่ 3.17% ดีกว่าคาด (3.10%) (สินเชื่อ +0.4% q-q ดีกว่าที่คาดว่าจะหดตัวเล็กน้อย โดยยังเห็นผลบวกจากการ rotate สินเชื่อ yield ต่ำ ไปยังกลุ่ม high yield มากขึ้น บวกกับประสิทธิภาพในการคุมต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายได้ดี) รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ดีกว่าคาดเช่นกัน +4% q-q ส่วนใหญ่เป็นผลจากกลุ่ม bancassurance ที่ทำได้ดีมาก

สำหรับค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มมากกว่าคาด +8% q-q ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มของค่าใช้จ่ายผันแปรตามการเติบโตของธุรกิจ ทำให้ Cost to income ratio  อยู่ที่ 44% (ใกล้เคียงคาด) ด้านคุณภาพสินทรัพย์ NPL s ลดลงต่อเนื่องมาที่ 2.99% ดีกว่าคาดมาก (คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย) โดยที่ credit cost เท่ากับ 125bp เท่ากับ 1Q23 และเป็นไปตามคาดเลย ผลรวมแล้วจึงทำให้ coverage ratio เพิ่มมาที่ 144% จาก 140% ใน 1Q23 โดยรวมกำไรครึ่งปี คิดเป็น 54% ของประมาณการทั้งปี 2566 ที่คาด

“คงประมาณการกำไรปีนี้ และคำแนะนำซื้อ และเลือกเป็นหุ้น top pick (นอกจาก BBL) เราชอบ TTB จากความสามารถในการบริหารจัดการรายได้ให้เติบโตได้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และการควบคุมต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายและต้นทุนดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก ราคาเป้าหมาย 1.83 บาท”บล.ฟินันเซียไซรัสระบุ

บล.ทิสโก้มองว่า ธนาคารกรุงไทย(KTB) จะได้ประโยชน์น้อยมาก จาก ครม. ไฟเขียว ออกสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใหม่ L6 และ N3

สำหรับสลากกินแบ่งรัฐบาล L6 รัฐบาลจะอนุญาตให้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบดิจิทัลเท่านั้นผ่านแอป “เป๋าตัง” ของ KTB และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ L6 นี้ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ N3 รูปแบบใหม่มีความคล้ายคลึงกับสลากใต้ดิน/ผิดกฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งจะน่าสนใจในช่วงรอบแรก แต่ผู้เล่นจะตระหนักในภายหลังว่าอัตราส่วนความเสี่ยงต่อผลตอบแทนนั้นไม่น่าดึงดูดเมื่อเทียบกับสลากใต้ดิน และอาจเลือกที่จะเดิมพันรางวัลที่หนึ่งภายใต้รูปแบบ L6 มากกกว่าแจ็กพอตใน N3 ยอดขายรวมจึงจะต่ำ และคาดว่า KTB จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจใหม่นี้ด้วย

“เราประเมินว่า KTB อาจทำรายได้เพียง 10.5 ล้านบาทต่อรอบ, 63 ล้านบาทต่อไตรมาส และ 252 ล้านบาทต่อปี  เรายังคงแนะนำ “ซื้อ” KTB รับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น โดยมูลค่าที่เหมาะสม 19.40 บาท”บล.ทิสโก้ระบุ