KKP ลุยสินเชื่ออสังหาฯยั่งยืน เกาะติดทุกขั้นตอน-ปิดการขาย

HoonSmart.com>>ธนาคารเกียรตินาคินภัทร รุกเจาะฐานลูกค้าอสังหาฯปรับตัวสู่ความยั่งยืนแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า ธนาคารฯร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อ ด้วยการทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าตั้งแต่การพิจารณาสินเชื่อ การออกแบบ การกำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง การตรวจงานก่อสร้าง ไปจนการขาย

ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก แต่การตระหนักรู้ด้าน ESG ยังมีไม่มาก

ในขณะที่มีข้อมูลว่า Embodied Carbon จากการก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วนถึง 11% ของปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาของโลก โดยเมื่อก่อสร้างเสร็จ อสังหาริมทรัพย์แต่ละแห่งยังจะมีการปล่อย Operational Carbon ที่จะอยู่กับโลกไปอีกนาน

ธนาคารจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนลูกค้าในกลุ่มธุรกิจนี้ให้ไปสู่การทำธุรกิจบนความยั่งยืน เพราะเชื่อว่าภาคอสังหาริมทรัพย์มีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่มีนัยยะและจับต้องได้

นายอภินันท์ กล่าวว่า ธนาคารถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนธุรกิจอสังหาฯ ในโครงการ Financing the Transition ว่ามี 2 ส่วน ได้แก่ Financial supports โดยจะให้การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเปลี่ยนผ่านด้วยการจัดสรรสินเชื่อราคาพิเศษสำหรับการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามลำดับขั้นจากการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

และ Non-financial supports ที่ให้การสนับสนุนเป็นองค์ความรู้และการให้คำปรึกษาเริ่มจากงานสัมมนา KKP Shaping Tomorrow ที่ธนาคารจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้กับลูกค้าธุรกิจอสังหาฯ ที่มีความมุ่งมั่นแต่ยังไม่ทราบชัดถึงวิธีการ

พร้อมกันนี้ ได้นำทีมที่ปรึกษาเรื่องการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ร่วมกับ SCG) โดยตั้งโจทย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบไม่เพิ่มต้นทุนของการก่อสร้าง

นอกจากนั้น ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและบัญชีก๊าซเรือนกระจกมาให้ความรู้โดยเฉพาะ เกี่ยวกับเครื่องมือในการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกเพื่อใช้วัดผล

แม้เมื่อเสร็จสิ้นงานสัมมนา ยังมีการติดตามผลกับลูกค้าแต่ละรายที่เข้าร่วมสัมมนาเพื่อสานต่อเจตนารมณ์และผลักดันให้เกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ KKP เผยว่าอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้างเป็นกลุ่มที่ปล่อยมลพิษเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ในขณะเดียวกันอัตราการขยายตัวของการก่อสร้างยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการขออนุญาตพื้นที่ก่อสร้างกว่า 16 ล้านตารางเมตรต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ธนาคารฯจึงมุ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมเงินทุนและจัดสรรทรัพยากรที่มุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนไปสู่ทั้งห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความสำคัญของการวัดผล การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการตั้งเป้าหมายสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)

นายณัฐวุฒิ นิยมญาติ ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ KKP กล่าวถึงแนวทางในการสนับสนุนผู้พัฒนาอสังหาฯ ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบ่งเป็นจากการก่อสร้าง และจากการใช้พลังงาน

ในส่วนของการก่อสร้างผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถเริ่มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยการปรับไปใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในส่วนของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงาน จำเป็นต้องมีการผสานนวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น โซลาร์เซลล์และ ระบบหมุนเวียนอากาศ (ERV) เข้ามาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานภายในอาคาร

“ธนาคารฯ มีการสนับสนุนผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับการลงทุนในนวัตกรรมต่างๆ เพื่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ผ่านโครงการ KKP Transition Supports ที่เป็นการสนับสนุนวงเงินส่วนเพิ่มเพื่อการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการใช้พลังงาน ค่าใช้จ่ายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว”นายณัฐวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ Financing the Transition มุ่งเน้นการสนับสนุนภาคธุรกิจไทยในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมสำหรับการปรับตัวสู่ความยั่งยืนครอบคลุมทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ธุรกิจให้ปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมเหมาะกับบริบทของประเทศไทย ที่ยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจในโลกเก่า (Brown) ทั้งการผลิต และการส่งออก และมีความจำเป็นต้องช่วยธุรกิจ SMEs ปรับตัวเปลี่ยนผ่านโดยสร้างความตระหนักในประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Less Brown) และก้าวไปสู่ความเป็นธุรกิจสีเขียว (Green) ในที่สุด