ดีพร้อม-บางจากฯ ผนึก 5 พันธมิตร ผลักดันน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF

HoonSmart.com>>กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) จับมือบางจากฯ ผนึกกำลังกับ 5 ยักษ์ใหญ่ภาคธุรกิจ กลุ่มเซ็นทรัล-ไทยเบฟเวอเรจ-เจริญโภคภัณฑ์อาหาร-ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์-สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เสริมความร่วมมือสร้างเครือข่ายบริหารจัดการน้ำมันใช้แล้ว ผลักดันการผลิต SAF เชิงพาณิชย์ ตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริมธุรกิจการบินแห่งอนาคต สู่เป้าหมาย Net Zero  ตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ  

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมลงนามใน MOU  กับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และพันธมิตรภาคธุรกิจที่มีการใช้น้ำมันปรุงอาหาร ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์  และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานของน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (UCO) ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel)  หรือ SAF ในเชิงพาณิชย์ รองรับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งทางอากาศ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โดยมอบหมาย ดีพร้อม ผสานความร่วมมือบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่นและ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตน้ำมัน SAF ผ่านกลไกความร่วมมือ MOU “การบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เพื่อนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy” เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานของน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว  สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมการบินไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำแนวทางการส่งเสริมการผลิต SAF และศึกษาวัตถุดิบที่มีศักยภาพในการผลิต SAF โดยเฉพาะ UCO ตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทย รวมถึงเดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ พร้อมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีพร้อมได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณความต้องการใช้ และกำลังการผลิตของผู้ผลิต SAF รวมถึงปริมาณแหล่งวัตถุดิบศักยภาพ (Supply) อาทิ น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ผลิตผลจากอ้อย เช่น กากน้ำตาล (Molasses) และเพื่อหาแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนการผลิต SAF จากวัตถุดิบศักยภาพในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ในระยะแรกของความร่วมมือภายใต้ MOU นี้ มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกลไกการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO สำหรับการผลิต SAF ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยมีขอบเขตการดำเนินงานตั้งแต่ การประชาสัมพันธ์ แนะนำ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และความตระหนักตลอดโซ่อุปทานในกระบวนการรวบรวม UCO สู่การเพิ่มมูลค่าเป็น SAF ตามแนวทาง BCG Model อีกทั้ง ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคครัวเรือนให้หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จาก UCO โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและเกิดการจัดการอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่เพียงเป็นการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์การบินของประเทศ ยังส่งผลถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น  กล่าวว่า กลุ่มบริษัทบางจากได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และมีความยินดีที่หน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรภาคธุรกิจให้การสนับสนุนการผลิต SAF กุญแจสำคัญสู่การลดคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบิน โดยมีความพร้อมในฐานะผู้บุกเบิกการผลิต Neat SAF 100% ในประเทศไทยด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ภายใต้ระบบที่ได้รับการรับรองระดับสากล International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง

อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน คือ 1) การสร้างความหลากหลายของวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF และ 2) การกำหนดนโยบายภาครัฐที่ชัดเจน  เพื่อผลักดันการใช้ SAF ในประเทศโดยเร็ว จึงขอเสนอแนวทางต่อหน่วยงานภาครัฐในการพิจารณานโยบายที่ชัดเจน เช่นการกำหนดสัดส่วนการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน ควบคู่กับการออกมาตรการสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ และจูงใจให้เกิดการลงทุนในระบบนิเวศของ SAF อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย แต่ยังสร้างโอกาสในการยกระดับประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภูมิภาคในอนาคตได้