ก.ล.ต.จ้องกล่าวโทษคดี STARK รอบสอง จับมือตลท.ฟันแก๊งปั่นหุ้น

HoonSmart.com>>ก.ล.ต.ชี้แจงการกล่าวโทษและอายัดทรัพย์ 10 รายคดี STARK ไม่ได้ล่าช้า ทำตามกระบวนการ และจะต้องสร้างความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพราะเป็นคดีอาญา ยันเดินหน้าหาผู้กระทำความเพิ่มเติม  ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบหาคนปั่นหุ้น อินไซดเดอร์เทรดดิ้ง ยังไม่ถึงขั้นผู้สอบบัญชี พนักงาน4 บริษัทย่อย STARK มาร้องขอความชัดเจน คำสั่งอายัดทรัพย์ กระทบการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ธุรกิจชะงัก “พัฒนพร” ผู้ช่วยเลขาธิการก.ล.ต.ยืนยันคำสั่งอายัดไม่เกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือน และการทำธุรกิจ ยังคงเดินหน้าได้ตามปกติ

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ และรักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ชี้แจงเรื่องการทำงานล่าช้า ของก.ล.ต.ว่า  การกล่าวโทษและการออกคำสั่งอายัดทรัพย์กับผู้เกี่ยวข้องการกระทำผิดคดีบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) จำนวน 10 รายตามมาตรา 267 แห่งพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่  6  ก.ค. 2566 เนื่องจากก.ล.ต.มีแนวทางกำหนดขั้นตอนการใช้มาตรการเอาไว้ หากมีเหตุอันสงสัยเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการกล่าวโทษ จึงต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอ  ส่วนการอายัดทรัพย์สินได้อายัดทรัพย์ทุกประเภทรวมทั้งหุ้น TOA ของนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ หนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวโทษด้วย

“  เรื่องมาตรา  267 มีการตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ใช้ซักที ใช่อยู่ในมือเรามานาน 30 กว่าปี แต่มีแนวทางที่วางไว้  เข้าเหตุตามกฎหมายที่บังคับใช้  เรามีการตั้งคณะทำงานดูแล สิ่งเหล่านี้ได้มีการทำอยู่แล้ว  แต่จะต้องใช้เวลา และจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะความผิดตามอาญารุนแรง” นายธวัชชัยกล่าว

นอกจากนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อขยายผลการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องการทุจริต บริษัท STARK ทั้งเรื่องการสร้างราคาหุ้น การเผยแพร่ข่าว ข้อมูลไม่ถูกต้อง  จะต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมการซื้อขายหุ้น รวมทั้งมีการการใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์เดอร์)หรือไม่  ซึ่งจะต้องหารือกับตลาดหลักทรัพย แต่ขณะนี้ยังไม่ขอตอบว่าตลาดหลักทรัพย์ได้ส่งเรื่องผลตรวจสอบการปั่นหุ้น STARK มาให้ก.ล.ต.แล้วหรือยัง  ส่วนเรื่องการกล่าวโทษผู้กระทำความผิดเพิ่มเติม ก็อยู่ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตลาดหลักทรัพย์

สำหรับการดำเนินคดีกับผู้สอบบัญชีนั้น ก.ล.ต. ขอแยกเป็น 2 ส่วน คือ ผู้สอบบัญชี STARK ที่อยู่ภายใต้อำนาจของ ก.ล.ต.ที่จะเข้าไปกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนที่สามารถเข้าตรวจสอบได้ทันที ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบพยานหลักฐาน และ กรณีที่ผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อยของ STARK และบริษัทที่เกี่ยวข้องที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. จะดำเนินการตรวจสอบด้วยเช่นกัน หากพบว่ามีความผิดร่วมด้วยจะประสานงานกับสภาวิชาชีพบัญชีเพื่อดำเนินการเอาผิดต่อไปพูด หลักฐานในชั้นนี้ยังไม่ถึงผู้สอบบัญชี

กรณีบริษัท STARK จะยื่นขอเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ  เป็นเรื่องดำเนินการตามกฎหมายล้มละลาย ตามสิทธิของผู้ถือหุ้น ถ้าหากศาลรับให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ไม่สามารถไปทวงหนี้ได้ ไม่เกี่ยวกับกฎหมายก.ล.ต.ที่ดำเนินการต่อไปได้

ในเที่ยงวันที่ 7  ก.ค. 2566  พนักงานของบริษัทลูก STARK ที่ถูกคำสั่งอายัดทรัพย์ทุกรายการ  ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL)  บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล (TCI) บริษัท อดิสรสงขลา และบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง  มากกว่า 100 คนมายื่นหนังสือขอความชัดเจนเรื่องอายัด เพราะคำสั่งที่ออกกมาส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานจำนวน 4,000 คน รวมครอบครัวด้วย 10,000 คน รวมถึงธุรกิจหยุดชงัก  นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า แม้จะมีการอายัดทรัพย์ไว้ แต่ตัวบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และจ่ายเงินเดือนพนักงานได้

หนึ่งในตัวแทนพนักงานที่มายื่นคำร้องต่อ ก.ล.ต.ในวันนี้กล่าวว่า หลังจาก ก.ล.ต.ออกข่าวคำสั่งกล่าวโทษและอายัดทรัพย์เมื่อวานนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้า เฟ้ลปส์ ดอด์จ ซึ่งเช้าวันนี้บริษัทก็ได้รับการแจ้งยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  มานำทองแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบกลับคืน รวมทั้งลูกค้าทั่วไปได้ยกเลิกออเดอร์เกือบทั้งหมด กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้มาร้องขอความเป็นธรรมในวันนี้