HoonSmart.com>>โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญคลื่นการลงทุนครั้งใหญ่ จากการปรับตัวและโยกย้ายฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น หากพิจารณาจากความโดดเด่นในแง่ทำเลที่ตั้งและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตอนนี้อาจเป็นโอกาสทองของไทยที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
อย่างไรก็ดี โจทย์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ไทยต้องแข่งขันกับอีกหลายประเทศที่ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมในประเทศของตัวเองเช่นกัน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพจะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาวมีอยู่ราว 4-5 สาขา ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล และสำนักงานภูมิภาค โดยในส่วนของ EV ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตจากจีนเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว 8 ราย และมีการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้มาอยู่ใน Supply Chain จากการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศอย่างน้อย 40%
อุตสาหกรรมต่อมา คือ เซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคต้นน้ำที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย โดยในปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบต้นน้ำขนาดใหญ่ เช่น Wafer Fab, IC Design และศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มีการจ้างนักวิจัยกว่า 500 คน เกิดขึ้นซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี
ถัดมา คือ ดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิส ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบริการที่มีความจำเป็นสำหรับภาคธุรกิจในยุคดิจิทัลอย่างในปัจจุบัน โดยขณะนี้ได้มีผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง Amazon เข้ามาตั้งฐานในไทยแล้ว และในอนาคตมีโอกาสที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ เช่น Google และ Microsoft จะดำเนินรอยตามเช่นกัน
อีกหนึ่งสาขาสำคัญ คือ การดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาค หรือ Regional Headquarters ในประเทศไทย ซึ่งจุดแข็งของไทยอยู่ที่การเป็นประเทศที่มีความน่าอยู่ มีต้นทุนที่เหมาะสม และหลายบริษัทมีฐานการผลิตในไทยที่พร้อมจะถูกยกระดับเป็นสำนักงานภูมิภาคอยู่แล้ว โดยหนึ่งในบริษัทข้ามชาติที่เลือกไทยเป็น Regional Headquarter แล้ว คือ Agoda
ในการผลักดันและส่งเสริมให้ไทยยกระดับเป็นฐานการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ สร้างรากฐานที่ยั่งยืนสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ BOI ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการไทยที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับโมเดลธุรกิจ นำพาประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
การลงนามใน MOU ระหว่าง BOI และ EXIM BANK ในครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังและประสานจุดแข็งของทั้งสององค์กร เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการดึงดูดกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย โดย EXIM BANK เป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ทั้งสินเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ บริการประกันการส่งออกและการลงทุน รวมทั้งบริการสนับสนุนการนำเข้า-ส่งออก
ขณะที่ BOI เป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนที่มีเครือข่ายนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่กว้างขวาง มีสำนักงานในต่างประเทศ 17 แห่ง และในภูมิภาค 7 แห่งที่พร้อมดูแลนักลงทุนในพื้นที่ อีกทั้งมีเครื่องมือสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในด้านต่าง ๆ เช่น การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน และเงินอุดหนุนผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ เป็นต้น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือต้องการไปลงทุนในต่างประเทศเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ตามความต้องการ และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของทั้งสองหน่วยงาน โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สมาคมอุตสาหกรรม และบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ
ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ EXIM BANK นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินในอัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยส่วนลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปีในปีแรก สำหรับสินเชื่อ EXIM Green Goal และสินเชื่อ EXIM Solar D-Carbon Financing สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายในกิจการ เช่น การติดตั้ง Solar Rooftop, Solar Farm และ Solar Floating พร้อมได้สิทธิในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนและรับรองคาร์บอนเครดิต รวมถึงสินเชื่อ EXIM Extra Transformation สำหรับผู้ส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve เพื่อยกระดับภาคการผลิตของไทย การลงทุนเพื่อซื้อหรือปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ ต่อเติม/ปรับปรุง/ก่อสร้างอาคารโรงงาน พัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและยกระดับกิจการ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น
“EXIM BANK มุ่งสู่บทบาท Green Development Bank พร้อมเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุนให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยและโลกโดยรวม ผ่านบริการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ทั้งการลงทุนของต่างประเทศในไทย (Foreign Direct Investment : FDI) และการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (Thai Direct Investment : TDI) เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เกิดการจ้างงานและการพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการทุกระดับตลอด Supply Chain โดยเฉพาะ Green Export Supply Chain” ดร.รักษ์ กล่าว