ก.ล.ต. พัฒนาตลาดทุนไทยสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล”

HoonSmart.com>>การพัฒนาตลาดทุนไทยสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล” เป็นเป้าหมายหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยดำเนินการทุกขั้นตอนโดยใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว โปร่งใสตรวจสอบได้ มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล สามารถเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในตลาดทุนทั้งหมดให้เข้ามาอยู่ในระบบและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ตลาดทุนไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันกับตลาดทุนต่างประเทศและส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ

การเปลี่ยนผ่านไปสู่ตลาดทุนดิจิทัลถูกกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. มีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการไปพร้อมกันหลายส่วน ดังนี้

1. พัฒนาระบบนิเวศที่สามารถรองรับการแข่งขัน แนวทางการพัฒนาระบบนิเวศด้านการลงทุนที่สำคัญคือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้ทันสมัยในหลายด้าน ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยส่งเสริมการดำเนินการและการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุนให้เท่าทันสภาพแวดล้อมและบริบทของโลกการลงทุนในยุคดิจิทัล มีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคตโดยยังคงมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายตลาดทุน 4 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (2) ร่าง พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ (3) ร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนฯ และ (4) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัลได้ครบถ้วนทั้งระบบ

2. นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาส่งเสริมการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องปรามและตรวจสอบการกระทำผิดในตลาดทุน (E-enforcement) และการพัฒนาโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure: DIF) ซึ่งจะเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนทั้งหมดมาอยู่ในระบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น

ผู้ระดมทุน ที่ต้องการออกเสนอขายหลักทรัพย์ ทุกขั้นตอนอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ลดขั้นตอน ลดเวลาดำเนินการ

ผู้ลงทุน สามารถรับบริการดิจิทัลแบบ end-to-end service ตั้งแต่การเปิดบัญชี ส่งคำสั่งซื้อขาย รับหลักทรัพย์เข้าบัญชี แสดงข้อมูลพอร์ตโฟลิโอ แจ้งเตือนสิทธิ์ผู้ลงทุน

ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง ดำเนินการอย่างเป็นมาตรฐานด้วยชุดข้อมูลเดียวกัน (single source) โดยข้อมูลจะถูกบันทึกและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดและระยะเวลาการทํางาน ทั้งยังมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่ใช้มีความครบถ้วน ถูกต้องแม่นยํา

หน่วยงานกํากับดูแล รับข้อมูลและแจ้งผลการพิจารณาการออกเสนอขายหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมดโดยที่ไม่มีกระดาษ (paperless) ซึ่งจะเป็นการช่วยลดระยะของกระบวนการออกเสนอขายโดยรวมได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ในระยะยาวยังช่วยให้มีข้อมูลเพียงพอในการกําหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อการพัฒนา ธุรกิจตลาดทุนต่อไปในอนาคต

สำหรับการพัฒนา DIF อยู่ภายใต้ Sandbox* ซึ่งเป็นพื้นที่ในการพัฒนาและทดสอบระบบเพื่อให้มั่นใจก่อนเปิดให้มีการใช้ระบบอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัลในระยะแรกบรรลุผลสำเร็จไปแล้ว สามารถให้ธุรกิจเอกชนออกเสนอขายตราสารหนี้ภายใต้ระบบดิจิทัล 100% และการพัฒนานี้ยังเดินหน้าต่อไปเพื่อขยายไปสู่การออกหลักทรัพย์ชนิดอื่นได้ครบถ้วน

3. ปรับตัวสู่องค์กรดิจิทัล เมื่อวางเป้าหมายก้าวสู่ตลาดทุนดิจิทัล การให้บริการด้านต่าง ๆ ของ ก.ล.ต. ย่อมต้องปรับไปสู่องค์กรดิจิทัลโดยการดำเนินงานทั้งหมดอยู่ภายใต้หลักการ “เข้าถึงไว เข้าใจง่าย ได้ผลเร็ว” ดังจะเห็นได้จากปัจจุบัน ก.ล.ต.ให้บริการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนตามแผนการพัฒนาบริการดิจิทัล (SEC Digital Services) เช่น การให้บริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน เช่น e-License, e-Document และ e-Reporting

สำหรับบริการสําหรับภาคประชาชน ก.ล.ต. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน เช่น “SEC Check First” เพื่อเป็นเครื่องมือปกป้องความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงให้ลงทุน ประชาชน หรือผู้ลงทุนสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวตรวจสอบข้อมูลบุคคล นิติบุคคล และผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนได้ว่า ได้รับการอนุญาตจาก ก.ล.ต. แล้วหรือไม่ “SEC Bond Check” เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาข้อมูลตราสารหนี้ได้ง่ายและสะดวก “SEC Fund Check” เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาและเปรียบเทียบข้อมูลกองทุน นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังมีบริการข้อมูลเปิดตลาดทุน (SEC Open Data) ทั้งในส่วนของตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์และพัฒนานวัตกรรมต่อยอดได้

การมุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัลยังเปิดโอกาสให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับกลุ่มธุรกิจ SME/Startup ได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมี SME/Startup หลายแห่งสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนผ่านการระดมทุนแบบ crowdfunding และมีมูลค่าการระดมทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ณ สิ้นเดือนเมษายน มีการระดมทุนผ่าน crowdfunding มูลค่ารวม 2,142.59 ล้านบาท

การพัฒนาตลาดทุนไทยสู่ตลาดทุนดิจิทัลตามแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. จะส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันกับตลาดทุนต่างประเทศและเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง ก้าวหน้าและยั่งยืน