ธนาคารโลกเพิ่มเป้าศก.ปีนี้โต 3.9% ส่งออกเพิ่ม 7.3%ท่องเที่ยวฟื้น ดีมานด์จีนแกร่ง

HoonSmart.com>>ธนาคารโลกปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จาก 3.6%เพิ่มเป็น 3.9% ได้ท่องเที่ยว-อุปสงค์จากจีนช่วย ส่งออกสินค้าและบริการโต 7.3% ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล 2.5% ส่วน GDP ปี 67-68 คาดขยายตัว 3.6% และ 3.4% จากส่งออกสินค้าและบริการโต 6.4% 4.3% ตามลำดับ ปรับลดศักยภาพการเติบโตในระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 3%  ชะลอลงจากกว่า 3.6% ในช่วงปี 53-62

ธนาคารโลกรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยประจำเดือน มิ.ย.2566 ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2566 เพิ่มเป็น 3.9% จากเดิม 3.6% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โมเมนตัมการฟื้นตัวจะแข็งแกร่งขึ้นจากที่ขยายตัว 2.6% ในปี 2565 โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวก่อนที่จะชะลอลงในระยะข้างหน้าจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก รวมถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งเกินคาดจากจีนมีส่วนช่วยสนับสนุนด้วย ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการปีนี้เติบโต 7.3% ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะกลับมาเกินดุลที่ 2.5% ของ GDP จากการค้าทั้งสินค้าและบริการ หลังจากที่ขาดดุลตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ถือว่ายังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและดีขึ้นของตลาดแรงงานและความต้องการท่องเที่ยวจากจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากที่อั้นมานาน แต่การลงทุนภาครัฐจะยังคงอ่อนแอ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ใช้เวลานาน

ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% และ 3.4% ตามลำดับ โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ขณะที่อุปสงค์ภายนอกอ่อนตัวลง สำหรับศักยภาพการเติบโตในระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งชะลอลงจากกว่า 3.6% ในช่วงปี 2553-2562

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางถึง 2%  ต่ำกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ ท่ามกลางราคาพลังงานโลกที่เริ่มผ่อนคลาย การตรึงราคาสินค้า และการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจาก 6.1% ในปี 65 สะท้อนให้เห็นถึงเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ลดลง ซึ่งคาดว่าจะลดลงจาก 25% ในปี 2565 เหลือเพียง 1.9% รวมทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจที่จะยังต่ำกว่าระดับศักยภาพไปจนถึงปี 2568 คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ 84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลง การตรึงราคาพลังงานในประเทศ ซึ่งรวมถึงไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มจะยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 จะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิด แม้ว่าการควบคุมราคาพลังงานและการขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องช่วยลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพ  การบิดเบือนกระบวนการเงินเฟ้อ  จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ขณะที่หนี้สาธารณะในระยะปานกลางคาดว่าจะขึ้นไปสูงสุดที่มากกว่า 60% ต่อ GDP เล็กน้อย ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลอาจทำให้การลงทุนภาครัฐหยุดชะงัก ความท้าทายเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับการสะสมทุนที่ต่ำ ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่สูงอาจเป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตที่ระดับศักยภาพ รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

สำหรับภาพรวมในไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมา ธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นที่ 4.5% ปัจจัยสนับสนุนมาจากอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยว แต่ยังคงตามหลังประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากความท้าทายภายนอก บัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและราคาน้ำมันที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อพุ่งสู่ระดับสูงสุดและกลับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ก็ยังคงมีแรงกดดันด้านราคา ส่วนการปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุลทำได้ช้า ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ยาวนานอาจชะลอการลงทุนภาครัฐ