TPL หุ้นโลจิสติกส์ครบเครื่อง หนี้ต่ำ-อนาคตเติบโตสูง

HoonSmart.com >> TPL หุ้นโลจิสติกส์ High Growth ครบเครื่อง ระดมทุนดันรายได้โต -มาร์จิ้นพุ่ง-หนี้ต่ำ-อนาคตก้าวกระโดด VI หมื่นล้านกอดหุ้นแน่น-AQUA ยันไม่ขาย

ภาพรวมกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังน่าจะมีการเติบโตได้ดีนับจากนี้ไปจะเป็นกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า-โลจิสติกส์-เฮลท์แคร์-AI สะท้อนการที่บริษัทขนาดใหญ่อย่าง บริษัท ปตท.(PTT) ประกาศทุ่มงบลงทุน 5 ปีจะลงทุนธุรกิจใหม่ มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปี โดยจะเน้นลงทุนในกลุ่มดังกล่าว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ พร้อมใจเดินหน้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างคึกคัก เพื่อเพิ่มศักยภาพฐานทุนรองรับการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทไทยพาร์เซิล  (TPL)  เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความพร้อมเช่นกัน โดยบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย สำหรับทั้งภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป ด้วยจุดเด่นในการส่งสินค้าขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก หลากรูปทรง ถือเป็นผู้ให้บริการระดับ Niche ในตลาด Logistics ของประเทศไทย ภายใต้สโลแกน “ส่งหนัก ส่งใหญ่ ส่งทั่วไทย ใช้ TP Logistics” โดยบริษัทฯมีกลุ่มลูกค้ากระจายไปในกลุ่ม B2B B2C C2C ปัจจุบันบริษัทให้บริการจัดส่งสินค้าและสิ่งของประมาณ 350,000-600,000 ชิ้นต่อเดือน มีจุดให้บริการ 129 แห่งทั่วประเทศ

ภายใต้แกนนำของ “ภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPL เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ได้เสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 120 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.90% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ราคาหุ้นละ 3.30 บาท จองซื้อระหว่างวันที่ 22-23 และ 26 มิถุนายน 2566 เข้าซื้อขายในตลาด mai วันที่ 30 มิ.ย.นี้ หมวดธุรกิจบริการ  ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักลงทุนให้ความสนใจอย่างคึกคัก  บริษัทฯ ระดมเงินทุนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“ภายหลังระดมทุน บริษัทฯ มั่นใจว่า จะเพิ่มศักยภาพการเติบโตรายได้เพิ่มขึ้น 15-20% เติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทางบก อยู่ระดับ 3-5%”

สำหรับเงินจากการระดมทุน  396 ล้านบาท จะนำไปใช้ซื้อที่ดินและก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Hub) และลงทุนในยานพาหนะทั้งรถบรรทุก 10 ล้อ และ 6 ล้อ ซึ่งใช้สำหรับการขนส่งในเส้นทางระหว่างภูมิภาค (Line Haul) เป็นหลัก และรถกระบะ 4 ล้อ เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งจะปรับกองยานพาหนะด้วยการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในปี 2566

จากการศึกษาทดลองสามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้กว่า 50% จึงมั่นใจว่าการปรับมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า จะทำให้บริษัทฯมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น และจะสนับสนุนให้เป็นองค์กรก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่หลากรูปทรงด้วยระบบ  “Green logistics”

ขณะที่ปัจจุบัน โครงสร้างรายได้ของกลุ่ม  Q1/2566  แบ่งได้ตามประเภทของการจัดส่ง ได้แก่ 1) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (Business to Business : B2B) มีสัดส่วน 31.99 %

2) การจัดส่งแบบบุคคลถึงบุคคล (Customer to Customer : C2C) 29.78% และ 3) การจัดส่งแบบธุรกิจถึงบุคคล (Business to Customer : B2C) 33.60%

ล่าสุด ณ Q1/2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ  9.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ  2.41 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.90% จากงวดเดียวกันปีก่อนเท่ากับ 18.04% และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(D/E) 0.53 เท่า ขณะที่บริษัทฯมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 50%ของกำไรสุทธิ

นอกจากนี้  กลุ่มพันธมิตรที่ร่วมถือหุ้นทั้งบริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA)  ถือหุ้น 26.73% ซึ่งติดไซเรนท์พีเรียด  ยืนยันไม่ขายหุ้นออกมา และกลุ่มนักลงทุนเน้นลงทุนหุ้นคุณค่า (VI) ทั้ง 2 คน “สุระ คณิตทวีกุล -พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี”  เป็นกลุ่มที่มีการถือหุ้นมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนหน้า  เพราะมองว่า TPL มีศักยภาพการเติบโต และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมั่นว่ากลุ่มพันธมิตรจะให้การสนับสนุน และช่วยต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ส่วนแผนงานในอนาคต  เป้าหมายการดำเนินงานภายใน 3 ปี ตั้งเป้าเป็นผู้นำให้บริการโลจิสติกส์ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การขนส่ง การจัดการด้านคลังสินค้า การกระจายสินค้า รวมถึงให้บริการเชื่อมโยงและรับช่วงต่อการขนส่ง แต่ละรูปแบบของการขนส่งสินค้า และสิ่งของจากต้นทางจนถึงจุดหมายปลายทาง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน คาดเพิ่มขีดความสามารถส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้น เต็มกำลัง 1 ล้านชิ้นต่อเดือน

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็น TPL เป็นหุ้นโลจิสติกส์ที่มีคุณสมบัติครบเครื่อง ทั้งการมีรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20% อัตรากำไรขั้นต้นสูงระดับ 18-20% ขณะที่บริษัทฯ มีนโยบายรักษาอัตราส่วน หนี้สิน : ทุน  ระดับ 0.5 เท่า ซึ่งภายหลังจากการระดมทุนมีศักยภาพในการจัดส่งเพิ่มขึ้น การใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า ช่วยบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้ลดลงได้ถึง 50% ความสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้น

ขณะที่มีฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง เพราะมีแหล่งทุนที่ต้นทุนลดลง เชื่อได้ว่า สามารถช่วยผลักดันการเติบโตในอนาคตได้อย่างก้าวกระโดดแน่นอน