“ทริส” ปรับเพิ่มเครดิต “AH” ขึ้น A- จาก BBB+ สะท้อนผลงานแข็งแกร่ง

HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร “อาปิโก ไฮเทค” (AH) เป็นระดับ A- จากระดับ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต Stable สะท้อนการคาดการณ์บริษัทยังมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งต่อเนื่อง รักษาอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ในระดับเป้าหมาย รักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้

ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท อาปิโก ไฮเทค (AH) เป็นระดับ A- จากระดับ BBB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ โดยการเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ เอาไว้ได้ในระดับเป้าหมายตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในกลุ่ม Tier 1 ของประเทศไทยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารวมถึงความท้าทายต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการดำเนินงานในต่างประเทศและข้อพิพาททางกฎหมายที่กำลังดำเนินอยู่ ตลอดจนลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมรถยนต์

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
บริษัทประกาศรายได้และกำไรซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่โดยได้แรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท OEM (Original Equipment Manufacturer) และธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อจากทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่าที่อยู่ในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท OEM รวมถึงการขยายโชว์รูมอย่างต่อเนื่องในธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัท

ในปี 2565 รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2.83 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 36.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 51.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าอีกด้วย ซึ่งผลประกอบการที่แข็งแกร่งดังกล่าวยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องน่าจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงเป็นที่น่าพอใจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

ภายใต้ประมาณการกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2.9-3.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2566-2568 ในขณะที่ EBITDA นั้นคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.7-3.2 พันล้านบาทต่อปี โดยจะมี EBITDA Margin อยู่ที่ระดับ 9%-11% แม้ว่าอัตรากำไรดังกล่าวจะค่อนข้างต่ำ แต่ความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ผลิตรถยนต์และการบริหารจัดการในการผลิตที่มีประสิทธิภาพของบริษัทน่าจะช่วยรักษาอัตรากำไรให้เป็นไปตามที่คาดการณ์ได้

ระดับหนี้สินลดต่ำลง
ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กระแสเงินสดของบริษัทเมื่อเทียบกับภาระหนี้สิน โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ระดับ 1.9 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จากระดับสูงสุดที่ 5.3 เท่าในปี 2563 นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จากระดับ 14.3% ในปี 2563

ในอนาคตทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ เอาไว้ได้ในระดับเป้าหมาย โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะทรงตัวเหนือระดับ 30% ทั้งนี้ ประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2.2-2.7 พันล้านบาทต่อปีซึ่งน่าจะเพียงพอในการรองรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนจำนวน 1-2 พันล้านบาทต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า ขณะที่บริษัทน่าจะมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราประมาณ 30% ของกำไรสุทธิ ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงแข็งแรงโดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ระดับประมาณ 40%

ในระยะ 3 ปีข้างหน้า
ข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินรวมสุทธิต่อส่วนทุนไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 เท่า ซึ่ง ณ เดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.4 เท่า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า สำหรับโครงสร้างหนี้ ณ เดือนมีนาคม 2566 นั้น บริษัทมีหนี้สินรวม (ไม่นับหนี้สินจากสัญญาเช่า) จำนวนทั้งสิ้น 7.1 พันล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) จำนวน 3.3 พันล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 46%

มีสถานภาพในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท OEM เอาไว้ได้เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ในตลาดของบริษัทที่มีมาอย่างยาวนานรวมทั้งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้าและธุรกิจของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ด้วยประสบการณ์เกือบ 30 ปีบริษัทได้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อป้อนให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่และผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Tier 1 หลายราย เช่น อีซูซุ ฟอร์ด มาสด้า นิสสัน ดาน่า และคอนติเนนทอล ซึ่งการดำเนินงานที่ไว้วางใจได้ประกอบกับความน่าเชื่อถือของบริษัทได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและลูกค้าดังกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีขนาดของธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ โดยรายได้จากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท OEM ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่ามาอยู่ที่ระดับ 2.03 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 1.06 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์จากความสามารถในการรับมือกับคำสั่งซื้อจำนวนมากจากลูกค้าหลายรายซึ่งช่วยสร้างอุปสรรคในการเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในขณะที่ความสามารถของบริษัทในการควบคุมต้นทุนและส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพได้ทันเวลาก็ช่วยหนุนคำสั่งซื้อจากทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ให้เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า
บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนโครงช่วงล่าง (Chassis Frame) สำหรับรถกระบะอีซูซุและมาสด้า บีที-50 แต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยรายได้จากอีซูซุคิดเป็นสัดส่วน 20%-30% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่รายได้จากฟอร์ดและออโต้อัลลายแอนซ์ (กิจการร่วมค้าระหว่างฟอร์ดและมาสด้า) คิดเป็นสัดส่วน 7%-8% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อีซูซุและออโต้อัลลายแอนซ์อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 5 อันดับแรกในประเทศไทยในแง่ของปริมาณการผลิตรถยนต์โดยรวม ความสัมพันธ์ที่บริษัทมีมาอย่างยาวนานประกอบกับคำสั่งซื้อต่อเนื่องจากลูกค้าดังกล่าวช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการกระจุกตัวลงได้ ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนในกลุ่ม Tier 1 มักไม่นิยมเปลี่ยนตัวผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่เนื่องจากจะมีต้นทุนในการเปลี่ยนตัวค่อนข้างสูงประกอบกับมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าด้วยเช่นกัน

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนหลาย ๆ รายมายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งของประเทศไทยก็น่าจะช่วยดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนเหล่านี้ได้อีกด้วย นอกจากการขยายฐานลูกค้าแล้ว การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศของบริษัทก็ช่วยลดการกระจุกตัวของลูกค้าลงได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม EBITDA ที่มาจากการลงทุนในต่างประเทศนั้นยังมีสัดส่วนที่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของ EBITDA ทั้งหมดของบริษัทในปี 2565

การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศสร้างทั้งโอกาสและความท้าทาย
เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การเติบโต บริษัทจึงได้ขยายธุรกิจไปในต่างประเทศโดยเข้าลงทุนเกือบ 7 พันล้านบาทใน Sakthi Global Auto Holdings Ltd. (SGAH) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนแกนบังคับเลี้ยว (Steering Knuckles) ในรูปของส่วนทุนและเงินให้กู้ยืม บริษัทคาดหวังว่าการลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขนาดของธุรกิจและทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกจากการที่ SGAH มีฐานการผลิตในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อินเดีย โปรตุเกส จีน และสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่ไม่ดีนักก็ทำให้ SGAH ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้แก่บริษัทได้ บริษัทจึงได้ใช้สิทธิ์ยึดหุ้นที่เหลือทั้งหมดของ SGAH ที่ใช้เป็นหลักประกันและตั้งสำรองด้อยค่าเงินลงทุนจำนวนประมาณ 1.1 พันล้านบาทในปี 2562

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ซื้อหุ้น 100% ในบริษัท Sakthi Portugal S.A. ซึ่งถือหุ้นทางอ้อมโดย SGAH จากเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันเพื่อให้มีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จอีกด้วย ต่อมาบริษัท Sakthi Portugal S.A. ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท AAPICO Maia S.A. (MAIA)

ปัจจุบัน บริษัทถือหุ้นทางตรงในสัดส่วน 100% ใน SGAH และใน MAIA ส่วน SGAH นั้นถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 77% ใน Sakthi Auto Component Ltd. (SACL) ในประเทศอินเดีย ผลการดำเนินงานของ MAIA ซึ่งอยู่ในประเทศโปรตุเกสค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และการขาดแคลนชิป ทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินงานในประเทศโปรตุเกสจะยังสร้างรายได้ให้แก่บริษัทปีละประมาณ 4 พันล้านบาทและสร้าง EBITDA ปีละประมาณ 0.4 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ในขณะเดียวกัน การดำเนินงานในประเทศอินเดียนั้นยังคงมีข้อพิพาททางด้านกฎหมายกับผู้ถือหุ้นเดิมของ SGAH โดยแม้จะมีการถือหุ้นในสัดส่วน 77% ใน SACL แต่บริษัทก็ยังไม่มีอำนาจควบคุมในบริษัทดังกล่าว ซึ่งความพยายามของบริษัทในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป และเนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของการดำเนินงานในประเทศอินเดีย ผู้สอบบัญชีจึงให้ความเห็นแบบมีเงื่อนไข (Qualified Opinion) ต่องบการเงินของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจำนวน 159 ล้านบาทโดยไม่ได้รับเงินปันผลจากการดำเนินงานในประเทศอินเดียในปี 2565 ดังนั้น EBITDA ของบริษัทตามการคำนวณของทริสเรทติ้งจึงไม่ได้รวมผลการดำเนินงานของ SACL เอาไว้ด้วย เงินลงทุนของบริษัทสำหรับการดำเนินงานในประเทศอินเดียมีจำนวนทั้งสิ้น 2.7 พันล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณ 10% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ เดือนมีนาคม 2566 ในกรณีฐานทริสเรทติ้งไม่คาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบในเชิงลบที่สำคัญจากข้อพิพาทที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันอีก

สภาพคล่องอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังคงสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในระยะ 12 เดือนข้างหน้าจำนวนรวมกันประมาณ 3.7 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 1.9 พันล้านบาท หนี้เงินกู้ระยะยาวจากธนาคารจำนวน 1.5 พันล้านบาท และหุ้นกู้อีกจำนวน 300 ล้านบาท บริษัทมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอยู่ที่จำนวนเกือบ 1 พันล้านบาท ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้านั้นคาดว่าจะอยู่ที่จำนวน 2.4 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวนประมาณ 4 พันล้านบาทด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งในช่วงระหว่างปี 2566-2568 มีดังนี้
– รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ในช่วง 2.9-3.0 หมื่นล้านบาทต่อปี
– EBITDA Margin จะอยู่ในช่วง 9%-11%
– ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 1-2 พันล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต Stable หรือ คงที่ สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจหลักของบริษัทเอาไว้ได้ โดยบริษัทน่าจะยังรักษาผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและบริหารจัดการระดับหนี้สินได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ข้อพิพาททางด้านกฎหมายที่กำลังดำเนินอยู่ก็คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบที่มีนัยสำคัญใด ๆ ต่อบริษัทด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตค่อนข้างจำกัดในระยะสั้นแต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มขนาดของฐานกำไรได้อย่างมีนัยสำคัญและควบคุมระดับหนี้สินเอาไว้ได้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมากจนทำให้ EBITDA อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปีและ/หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 3 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง