SCB ชี้หุ้นได้-เสีย นโยบายรัฐบาลใหม่ คาดครึ่งปีหลังเงินไหลเข้า กนง.ขึ้นดบ.2 ครั้ง

HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กรณีฐานได้รัฐบาลใหม่เดือนส.ค.นโยบายหาเสียงสำคัญของแกนนำ จะส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวโยงบริโภค-ผู้ประกอบการรายย่อย ในทางกลับกันบางธุรกิจอาจได้รับผลลบจากนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ-ประเด็นผูกขาด ยืนเป้าเศรษฐกิจปี 66 โต 3.9% ดึงดูดฟันด์โฟลว์เข้าตลาดหุ้น-บอนด์ คาดสิ้นปีบาทแข็งค่าอยู่ที่ 32-33 บาท จากเงินดอลลาร์อ่อน คาดเฟดคงดอกเบี้ยเดือนมิ.ย. ก่อนจะปรับขึ้นอีกครั้ง ส่วนกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง แตะ 2.5%  ส่วนธปท.คาดปีนี้เศรษฐกิจโต 3.6% และ 3.8% ปีหน้า

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า เศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งจะยังมีความไม่แน่นอนสูง จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และนโยบายภาครัฐ ในกรณีฐาน คาดว่าจะได้รัฐบาลใหม่ในช่วงเดือนส.ค.นี้ จะส่งผลต่อการเบิกจ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณปี 2567 ไม่มากนัก  แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่อาจล่าช้าไปถึงปลายเดือนต.ค. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ  นอกจากนี้นโยบายหาเสียงสำคัญจะเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการบริโภค รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่บางธุรกิจอาจได้รับผลลบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อ 0.63% จาดที่คาดการณ์ที่ระดับ 2.1% รวมถึงบางกลุ่มธุรกิจที่มีประเด็นผูกขาดทางการค้า

ด้านหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในทุกฉากทัศน์ของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จากการดำเนินการตามรายจ่ายจากชุดนโยบายหาเสียง นอกเหนือจากแรงกดดันจากรายจ่ายเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มีอยู่เดิม สะท้อนความจำเป็นต้องปฏิรูปการคลังเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง

ส่วนเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 4.0% YoY ต่ำกว่าคาดที่ +4.2% ดร.ฐิติมาคาดว่าเฟดคงดอกเบี้ยที่ 5.25%  และมีโอกาสปรับขึ้นอีก 1 ครั้ง  ก่อนที่จะทรงตัวระดับสูง ส่วน ECB คาดจะเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้ง  และธนาคารกลางอังกฤษจะปรับขึ้นอีก 3 ครั้ง ท่ามกลางปริมาณเงิน สภาพคล่องโลกลง และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เงินทุนไหลเข้าลดลงหรือเคลื่อนย้ายออกจากตลาดกำลังพัฒนา รวมถึงไทยไหลออกร่วม 1.5 แสนล้านบาท ทั้งจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ คาดว่าครึ่งปีหลังจะไหลเข้า สำหรับดอกเบี้ยที่สูงทำให้เงินฝากหันไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่น่าสนใจมากขึ้น  กองทุนตลาดเงินให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก คาดดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งที่ 2.5%  ในไตรมาสที่ 3 คาดวงจรการขึ้นดอกเบี้ยโลกใกล้สิ้นสุดจุดพีคแล้ว

“ภาวะการเงินไทยมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง ในระยะสั้นเงินบาทจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มแข็งค่าและเงินบาทได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากเงินหยวนอ่อนค่า อย่างไรก็ดี เงินบาทจะปรับแข็งค่าไปอยู่ที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566 จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะปรับดีขึ้นหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะกลับมาอ่อนค่าหลังจากเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย”

ดร.ฐิติมายังคงประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2566 ไว้ที่ 3.9% ตามการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยวรวมถึงภาคบริการที่ฟื้นตัวดี  โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ที่ 30 ล้านคน  มีการเที่ยวเมืองรองมากขึ้น ขณะที่รายได้มีโอกาสแตะ 1.27 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยในปี 62 มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ด้านการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีไม่สดใสนักและเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญของเศรษฐกิจ

SCB EIC ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกปีนี้เหลือ 0.5% จากเดิมคาดว่าเติบโต 1.2% จากอุปสงค์โลกที่ยังอ่อนแอ แรงหนุนตลาดส่งออกจีนที่แผ่วกว่าคาด และความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในกรณีฐาน เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเผชิญกับเอลนีโญระดับอ่อนถึงรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะสร้างความเสียหายในภาคเกษตรราว 4 หมื่นล้านบาทโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นปีหน้า
ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวใน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2566 ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.6% และปี 2567 ที่ 3.8%   มีแรงส่งที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ไตรมาสแรก จำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าที่คาดไว้ในเกือบทุกสัญชาติ โดย ธปท.คาดว่าทั้งปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 29 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 35.5 ล้านคนในปี 2567  อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ คาดว่าจะอยู่ที่ -0.1% ซึ่งจะเห็นการขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่าการจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ระดับ 3.6% ในปี 2567

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าว่า สิ่งที่ กนง. ใช้ในการพิจารณา คือ แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ต่อเมื่อจะมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ  ดังนั้นในปีหน้า คิดว่ายังเป็นทิศทางที่ยังแตกต่างกันอยู่ ของไทยคือค่อยฟื้นในปีหน้า แนวนโยบายที่ทำ ณ ปัจจุบัน ก็ยังคงมองภาพนั้นอยู่

สิ่งที่ กนง. จะพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงิน คือ การพิจารณาให้เกิดความสมดุลทั้งเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน ดังนั้นแนวนโยบายที่ดำเนินมาถึงจุดนี้ กนง.จึงมองว่ายังเป็นสิ่งที่เหมาะสม ขณะเดียวกันเห็นว่ายังมีเวลาอีก 1 เดือนครึ่งก่อนที่จะมีการประชุม กนง.รอบถัดไปในเดือนส.ค. ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็จะมีข้อมูลอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมได้อีก

นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงิน มีเป้าหมายหลักในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ ขณะที่เงินเฟ้อ กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะต้องเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจ และช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว