บลจ.ทิสโก้มองเป้าหุ้นปีนี้ 1,600 จุด แนะ 6 กองทุนติดพอร์ตครึ่งปีหลัง

HoonSmart.com>> “บลจ.ทิสโก้” มองเป้าหุ้นไทย 1,600 จุดปลายปีนี้ ตลาดไร้ปัจจัยดึงดูดเงินลงทุน ต่างชาติโยกหาผลตอบแทนตลาดอื่น ด้านกำไรบจ.เสี่ยงถูกหั่นคาดการณ์ลงต่อ รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แนะกลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลัง ซื้อกองทุนหุ้นไทยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศ และท่องเที่ยว ส่วนต่างประเทศแนะนำ กองทุนหุ้นจีน หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ หุ้นปันผล และตราสารหนี้สหรัฐฯ พร้อมชี้เป้า 6 กองทุนเด่นติดพอร์ตครึ่งปีหลัง

นายสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา ผู้บริหารสายงานจัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ เปิดเผยถึงมุมมองการลงทุนหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าดัชนี SET จะปรับตัวดีขึ้นโดยมีเป้าหมายที่ 1,600 จุด แรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อลดลงและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ (GDP) อยู่ที่ 3.3% แต่ยังคงต้องจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและนโยบายของรัฐบาลใหม่ ซึ่งราคาหุ้นแต่ละอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพื่อสะท้อนผลกระทบด้านบวกและลบจากนโยบายที่ออกมา นอกจากนี้ ยังต้องติดตามกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่จะมีผลโดยตรงต่อกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินลงทุนต่างชาติ (FundFlow) ไหลออกเกือบ 1 แสนล้านบาท เนื่องมาจากกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ชะลอตัวลงจากฐานที่สูงในปี 2565 ทำให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินออกไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติบางส่วนปรับลดขนาดการลงทุนลง รอความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะเห็นในเดือนส.ค.66 และนโยบายรัฐบาล รวมถึงความล่าช้าของงบประมาณปี 2567

นายสุพงศ์วร กล่าวว่า มองตลาดหุ้นสะท้อนภาพการเมืองไประดับหนึ่งแล้ว แต่ความไม่ชัดเจนทำให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่ลงทุน อย่างไรก็ตามเงินลงทุนต่างชาติไม่ได้ไหลออกแค่หุ้นไทย แต่ยังเกิดขึ้นหลายประเทศในภูมิภาค

“ปีที่ผ่านมาหุ้นไทยเป็นหลุมหลบภัยของนักลงทุนทั่วโลก แต่ปีนี้ภาพกลับเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ใกล้ขึ้นดอกเบี้ยสิ้นสุดแล้วและรอดูสัญญาณจากการประชุมในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ขณะที่หุ้นสหรัฐปรับตัวลงมากในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนจึงโยกกลับไปลงทุนหุ้นเทค รวมทั้งกำไรบจ.ถูกปรับลดคาดการณ์ตั้งแต่ต้นปี ทำให้ไม่มีปัจจัยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย รวมถึงหุ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยมองกรอบดัชนีในระยะกลาง 1,500-1,600 น่าจะรับไหว ซึ่งที่ผ่านมาดัชนีลงแถว 1,500 จุด มักมีแรงเข้ามาซื้อหุ้น”นายสุพงศ์วร กล่าว

สำหรับการลงทุนหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ควรเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยว เช่น โรงพยาบาล ค้าปลีก และท่องเที่ยว และกลุ่มที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมากแล้วตั้งแต่ต้นปีและราคาได้สะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว เช่น ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น

ส่วนการลงทุนต่างประเทศ มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 13 – 14 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงในระยะสั้น และอาจเกิดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีที่ราคาปรับขึ้นมาสูงพอสมควรแล้ว มีโอกาสจะถูกนักลงทุนเทขายทำกำไร อย่างไรก็ตามเป็นโอกาสในการทยอยลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ หุ้นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของเงินปันผล (Dividend Growth) เพราะราคาหุ้นที่ยังเหมาะสมและมีความเสี่ยงต่อภาวะการชะลอตัวได้ดีกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ

ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ยังคงมีความน่าสนใจจากความแข็งแกร่งของบริษัทและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ AI ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เริ่มมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และเริ่มมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นจีนจากระดับ มูลค่าหุ้น (Valuation) ที่น่าสนใจ

ในส่วนตลาดตราสารหนี้ ต้องเน้นที่มีคุณภาพดีและให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ใกล้จุดสูงสุด คือ ได้ผลตอบแทนสูง เช่น หากลงทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ ระยะสั้น 1 ปี อาจจะได้ผลตอบแทนราว 5% ส่วนตราสารหนี้ระยะยาว หากดอกเบี้ยเริ่มปรับลดลงในปีหน้า 2567 ตราสารหนี้ระยาวที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ณ ขณะนั้น ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น

ด้านการลงทุนทองคำ มีมุมมองกลางๆ จากข้อดีคือเป็นที่หลบภัยของนักลงทุนเมื่อตลาดหุ้นขาลง และ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่ธนาคารกลางหลายต่าง ๆ มักจะหันเข้ามาลงทุนในทองคำมากขึ้น แต่ในระยะข้างหน้าหลังจากนี้มองแนวโน้มราคาทองคำอาจจะปรับขึ้นไม่มาก หากไม่ได้มีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรง

นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยว่า สำหรับกองทุนแนะนำครึ่งปีหลังในส่วนของหุ้นไทยแนะนำให้ลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวหุ้นกลุ่มนี้มีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าหุ้นกลุ่มอื่น และกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยว

ส่วนกองทุนต่างประเทศแนะนำลงทุนในกองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ กองทุนหุ้นปันผล และกองทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ

พร้อมกันนี้แนะนำ กองทุนที่ติดพอร์ตในครึ่งปีหลัง ได้แก่ กองทุน TGHDIV ลงทุนหุ้นปันผลทั่วโลก กองทุน TUSTECH ลงทุนหุ้นเทคสหรัฐ กองทุน TUSBOND ลงทุนบอนด์สหรัฐ กองทุน TISCOCH ลงทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นไทย ได้แก่ TISCOHD ลงทุนหุ้นปันผลในไทย กองทุน TISCOWB ลงทุนหุ้นไทยบนดัชนี SETWB ใน 7 หมวดธุรกิจที่ประเทศไทย

นายสาห์รัช กล่าวว่า ในปี 2566 สถานการณ์การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความไม่แน่นอน และมีความผันผวนสูง ทั้งปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยการเมืองในประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวมโดยภาพรวม

อย่างไรก็ตามธุรกิจกองทุนรวม และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลของบลจ.ทิสโก้ยังคงมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการออกกองทุนใหม่ๆ ที่ครอบคลุมหลากหลายนโยบายการลงทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการนักลงทุนในสภาวะการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการเน้นจับจังหวะในการออกกองประเภททริกเกอร์ฟันด์มากขึ้นและมีแผนออกกองใหม่เพิ่ม และในไตรมาส 3 นี้มีแผนออกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลงทุนหุ้นไทยที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี SET Well-being (SETWB) ลงทุนกลุ่มหลักทรัพย์ 30 หลักทรัพย์ใน 7 หมวดธุรกิจที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและเป็นธุรกิจที่ผู้ลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ

สำหรับภาพรวมมูลค่าทรัพย์สินภายใต้บริหารของบลจ.ทิสโก้ปัจจุบันมีมูลค่า 3.5-3.6 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนพ.ค.2566 โดยกองทุนส่วนบุคคลมีมูลค่าทรัพย์สิน 7.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนบุคคลธรรมดามีมูลค่าประมาณ 7 พันกว่าล้านบาท และคาดทั้งปีกองทุนส่วนบุคคลจะเติบโต 5% กองทุนรวมมีมูลค่า 5.46 หมื่นล้านบาท คาดปีนี้เติบโต 5-10%

“การเติบโตของ AUM นอกจากจะเป็นผลของการเสนอขายกองทุนใหม่แล้ว ยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ราคาหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนปรับตัวดีขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลงในปีที่ผ่านมาเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปีนี้ ขณะที่กองทุนหุ้นไทยที่บริหารจัดการโดย บลจ.ทิสโก้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและโดดเด่น สะท้อนจากกองทุนหุ้นไทยกว่า 80% ของบลจ.ทิสโก้ได้รับการจัดอันดับ 4-5 ดาวจาก Morningstar Thailand (ข้อมูลการจัดอันดับ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ส่งผลให้บลจ.ทิสโก้ได้รับรางวัลบริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทกองทุนหุ้นในประเทศ (Best Fund House Winner : Best Domestic Equity House) จากการประกาศผลรางวัล Morningstar Awards 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2″นายสาห์รัช กล่าว