“วิริยะ”อ้าแขนรับรถ EV 6 เดือน เบี้ยรวม 2.2 หมื่นล.

HoonSmart.com>>วิริยะประกันภัย ยันยังรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าคิดเบี้ยตามความเสี่ยง พร้อมเปิดตัว 3 ผู้จัดการคนรุ่นใหม่เติมฐานลูกค้านันมอเตอร์ ชู 3 สินค้าไฮไลต์ 1 บริการเด่น ตรึงใจลูกค้าเก่า 1.8 ล้านคน สู้ศึกการแข่งขันครึ่งปีหลัง ด้าน 6 เดือนแรกเบี้ยรวม 2.2 หมื่นล้านบาท คาดทั้งปีโต 2-3%

นายดลเดช สัจจวีระกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทวิริยะประกันภัย เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกปี 2567 บริษัทฯมีเบี้ยรับรวมประมาณ 22,000 ล้านบาท (6 เดือนแรกปี 2566 มีเบี้ยรับรวม 21,292.88 ล้านบาท) โดยบริษัทยังคงรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ตามปกติ และทั้งปีคาดว่าเบี้ยรับรวมจะเติบโตประมาณ 2-3% จากปี 2566 ที่มีเบี้ยรับรวม 40,077.56 ล้านบาท

ด้านค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 1% เพราะเน้นการคิดเบี้ยประกันภัยที่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง ไม่แข่งขันเรื่องราคา โดยยึดหลัก มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า

สำหรับ การแข่งขันในช่วงครึ่งปีหลัง ได้เปิดให้บริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนนแก่ลูกค้าที่ทำประกันภัยรถ 4 ล้อ หรือรถขนาดเล็ก ที่ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ประเภท 2+ และ 3+ โดยมีฐานลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอยู่ทั่วประเทศจำนวน 1,800,000 ราย โดยไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่ม ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่ 1 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา

การที่ยอดขายของบริษัทยังคงเติบโตได้ในยุคการแข่งขันที่รุนแรงเช่นปัจจุบัน และยอดขายรถยนต์ใหม่ลดลงอย่างมาก เป็นผลมาจากการที่บริษัทมีช่องทางการขายที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะตัวแทนนายหน้ารายบุคคลที่มีจำนวน 3,000 คน ซึ่งทำยอดขายคิดเป็นสัดส่วน 30% ของเบี้ยรับรวม หรือเครื่องมือเทคโนโลยีเข้าไม่ถึง และช่องทางนายหน้านิติบุคคล ทำยอดขาย 30% ของเบี้ยรับรวม และช่องทางขายผ่านสถาบันการเงิน ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และองค์กรอื่นๆ สัดส่วน 40%

“ในช่วงนี้ต้องอาศัยตัวแทนรายบุคคลเข้าหาลูกค้ามากขึ้น ซึ่งปีนี้จะเพิ่มตัวแทนใหม่อีก 200 คน คัดคนที่มีใจรัก มีความซื่อสัตย์ บริการดี เครดิตดี ที่มีความมุ่งมั่นจะดูแลลูกค้า เพื่อเข้าถึงช่องว่างของตลาด ที่ช่องทางอื่นๆ หรือเทคโนโลยีเข้าไม่ถึง”นายดลเดช กล่าว

ทั้งนี้ ได้เปิดตัว 3 ผู้จัดการคนรุ่นใหม่ เพื่อทำการขยายผลิตภัณฑ์นันมอเตอร์ หรือประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ และช่องทางการตลาดใหม่ๆ

น.ส.จิราวรรณ อิ่มสิน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด NON-MOTOR ด้านส่วนบุคคล บริษัทวิริยะประกันภัย กล่าวว่า ในส่วนของตลาดประกันภัยส่วนบุคคล ซึ่งประกอบด้วย ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 2,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2566

ขณะนี้ บริษัทมีแบบประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ที่จ่ายค่าชดเชยในกรณีที่รถประสบอุบัติเหตุแล้วต้องนำรถเข้าซ่อมเกิน 12 ชั่วโมง จะได้รับค่าชดเชยครั้งละ 3,000 บาทต่อครั้ง โดยลูกค้าเคลมได้ถึง 5 ครั้งต่อปี เบี้ยประกัน 500 บาทต่อปี สำหรับลูกค้าที่ทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภทกับบริษัทวิริยะประกันภัยเท่านั้น

สำหรับ ประกันสุขภาพ สินเค้าไฮไลท์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางถึงรายได้สูง คือ แบบวี เบทเทอร์ เหมาจ่าย มีค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่ 1 แสนบาท และสูงสุด 7.7 แสนบาท และเบี้ยประกันภัยเริ่มต้น 5,000 บาทต่อปี โดยลูกค้ามีส่วนร่วมในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล 2-5 หมื่นบาท

“ปลายปีจะมีสินค้าใหม่ออกมาเพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่มีสวัสดิการด้านค่ารักษาสุขภาพเบื้องต้นอยู่แล้ว เป็นประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายที่เน้นคุ้มครองค่าห้อง และให้ผู้ซื้อมีส่วนในการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลบางส่วน จะทำให้เบี้ยประกันภัยถูกลง จากปัจจุบันที่ทำตลาดเฉพาะลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูง”น.ส.จิราวรรณ กล่าว

นายวิชัยยุทธ เหลืองสุววรรณ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัทวิริยะประกันภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีแบบประกันตะกาฟุลตามหลักศาสนาเต็มรูปแบบ ที่แยกเบี้ยประกันภัยออกมาต่างหาก มีคณะกรรมการชารีอะฮ์ดูแลเรื่องการบริหารเงินให้เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งขายผ่านทุกช่องทาง

สำหรับ แบบประกันตะกาฟุล ประกอบด้วย ตะกาฟุลรถยนต์ประเภท 1, ประเภท 2,ประเภท 3 และแบบตะกาฟุลรถยนต์ประเภท 2+,3+ ที่มีทั้งแบบรายปีและแบบระยะสั้น 30 วัน 90 วัน และ 180 วัน นอกจากนี้ยังมี ตะกาฟุลโจรกรรมรถจักรยานยนต์ ตะกาฟุลบ้านเปี่ยมสุข ซื้อครั้งเดียวครบ ดูแลหมดทั้งคนทั้งบ้าน ตะกาฟุลบ้านอุ่นใจ และ ตะกาฟุลธุรกิจปลอดภัย SME ที่ให้คุ้มครองครอบคลุม3 หมวดธุรกิจ 23 ประเภทกิจการ คุ้มครอง 6 หมวดพื้นฐาน และภัยเพิ่มเติม อาทิ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดับเพลิง เงินสมทบต่อปี สิ่งปลูกสร้าง ชั้น 1 และ 2

น.ส.กัญญา สุนทรวร ผู้จัดการตลาดดิจิทัลและช่องทางพิเศษ บริษัทวิริยะประกันภัย กล่าวว่า ปี 2567 ตั้งเป้าหมายยอดขายผ่านช่องทางดิจิทัลไว้ประมาณ 100 ล้านบาท จากปี 2566 ที่มียอดขาย 70 ล้านบาท โดยแบบประกันที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ คือ แบบประกันภัยรถยนต์ประเภท 2+ และ 3+ ซึ่งเป็นแบบแพคเกจ ความคุ้มครองที่ให้ลูกค้าเข้าใจง่าย สามารถตัดสินใจได้เลย และรับกรมธรรม์ได้เลย กับ ประกันภัยภาคสมัครใจ หรือ ประกัน พ.ร.บ.

ล่าสุด บริษัทได้ออกแบบประกันชั้น 1 PayLite จ่ายเท่าที่ขับ ซึ่งจะช่วยประหยัดเบี้ยไปกว่า 50% และไม่ต้องตรวจสภาพรถก่อนใช้บริการ จับกลุ่มลูกค้าที่ใช้รถน้อย คนที่ใช้รถเป็นระยะทางไม่ไกล อาทิ กลุ่มที่ทำงานที่บ้าน ลูกค้าที่ใช้ชีวิตแนวรถไฟฟ้า โดยขายผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อขยายฐานลูกค้าที่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน อายุระหว่าง 20-45 ปี ชอบซื้อของผ่านออนไลน์

สำหรับ ฐานะการเงินของบริษัทวิริยะประกันภัย ไตรมาส 1 ปี 2567 ที่เปิดเผยเมื่อปลายเดือนพ.ค.2567 ที่ผ่านมา มีสินทรัพย์รวม 70,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,063.81 ล้านบาท จากงวดสิ้นปี 2566 แยกเป็นสินทรัพย์ลงทุน 60,458 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,161.24 ล้านบาทจากงวดสิ้นปี 2566

ด้าน กำไรสุทธิ มีจำนวน 1,089.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271.99 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 33.29% ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น ค่าสินไหมทดแทนลดลง ค่าจ้างและค่าบำเหน็จลดลง ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยอื่นลดลง โดยมีเงินกองทุนที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด 35,970.80 ล้านบาท และมีเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย 19,254.35 ล้านบาท