HoonSmart.com>>มือกฎหมาย แนะเร่งแก้ไขกฎหมายล้มละลายปิดช่องโหว่ยืดคดี กระทบสิทธิประชาชน เห็นพ้องยึดหลัก Chapter 11 สหรัฐอเมริกา จัดการธนาคาร-บริษัทประกันภัยล้ม ให้อำนาจหน่วยงานกำกับตรงชี้ขาด ห้ามยื่นฟื้นฟูกิจการ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึง กรณีศึกษาบริษัทประกันภัยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เปิดช่องเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมาย ควรเร่งแก้ไขด่วน ก่อนกระทบต่อกลไกการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ซึ่งปัจจุบันในทางปฏิบัติของกฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของประเทศไทย เกิดการลักลั่นกันกับกฎหมายของหน่วยงานที่กำกับดูแล เพราะเกิดช่องโหว่ในเรื่องสภาวะการพักชำระหนี้ ทำให้มีโอกาสที่จะเลี่ยงกฎหมายของหน่วยงานที่กำกับดูแล
ทั้งนี้ ผลการจัดงานเสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 5 เรื่อง “Legal Innovation for Sustainable Justice in the Next Normal” วิทยากรทุกท่านเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย โดยอาจกำหนดเป็นข้อยกเว้นว่า ในกรณีที่มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว ห้ามมิให้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เช่นเดียวกับ Chapter 11 ของประเทศสหรัฐอเมริกา และปรับปรุงกฎหมายในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลให้รองรับในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไป
นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กฎหมายยุค Next Normal กับการขับเคลื่อนนวัตกรรม” ว่า การพัฒนากฎหมายยุคดิจิทัลควรจะมีลักษณะยืดหยุ่นทันสมัย และต้องคำนึงถึงว่ากฎหมายอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบได้ จึงควรต้องได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน และต้องมีกลไกที่ดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคให้เกิดประสิทธิภาพ
ศ. ดร. สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นด้วยว่า จำเป็นต้องหาทางแก้ไข โดยควรให้น้ำหนักกับบทบาทในเรื่อง Regulator Control มากขึ้น ซึ่งในฐานะที่เคยเป็นกรรมการยกร่าง พ.ร.บ. ล้มละลาย ยืนยันว่ากฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติภายหลัง
นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมายและตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) กล่าวว่า บริษัทประกันภัยที่มีปัญหา เกิดจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงผิดพลาด บริหารจัดการความเสี่ยงที่ไม่ดีพอ เมื่อเกิดปัญหาก็นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้ คปภ.ไม่สามารถใช้กฎหมายประกันภัยได้ ต้องรอให้กลไกการฟื้นฟูกิจการจบลงก่อน จึงกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน เห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนกฎหมาย เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลเกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันภัย ซึ่งมีศักดิ์ทางกฎหมายเท่ากับกฎหมายล้มละลาย
น.ส.รังสิมา รัตนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสระแก้ว ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง กล่าวว่า การฟื้นฟูกิจการเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่ไม่ควรให้โอกาสลูกหนี้ทุกรายที่ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ใช้ช่องทางนี้เพื่อประวิงคดี จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายล้มละลาย และแก้ไขกฎหมายขององค์การกำกับดูแล เพื่อให้สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้เข้มข้นขึ้น ซึ่งเปรียบเทียบกับ Chapter 11 ของกฎหมายล้มละลายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำหนดว่ากรณีธนาคารหรือบริษัทประกันภัยที่มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว ไม่สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้