รายย่อยร้องขอความเป็นธรรมศาลล้มละลายฯ เบรก “กลุ่มหมอวิชัย” เสกเจ้าหนี้หุ้นกู้ปลอม ดึงไอเฟคเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หวังครอบงำกิจการ จี้บอร์ดเร่งจัดประชุมผู้ถือหุ้นตามมาตรา 83 ได้กรรมการชุดใหม่ เข้ามาฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาแข็งแกร่ง
นางสาวเยาวลักษณ์ ฤทธิ์สมจิตต์ ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการลงทุน บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น ( IFEC ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นรายย่อย เจ้าหนี้หุ้นกู้และเจ้าหนี้ตั๋วแลกเงิน IFEC ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีที่นางสมศรี จีระวิพูลวรรณ ร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการบริษัท ซึ่งนางสมศรี เป็นญาติกับหมอวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ มีพฤติกรรมเจตนาไม่สุจริต อีกทั้งมูลค่าทรัพย์สินของบริษัทฯยังมากกว่าหนี้สิน และมีโอกาสในทางธุรกิจ ยังไม่จำเป็นต้องยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ตุลาคม 2561
“พวกเราเชื่อว่า คณะกรรมการชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งของผู้ถือหุ้น โดยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย มีความสามารถที่จะบริหารจัดการบริษัทฯ ให้กลับมาแข็งแกร่ง และสามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ ดังนั้น กลุ่มผู้ถือหุ้น IFEC จึงขอความเป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้สวนเสียกว่า 3 หมื่นรายด้วย”
สำหรับประเด็นที่ผู้ถือหุ้น ร้องขอความเป็นธรรม ประกอบด้วย 5 ประเด็นคือ 1.ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องและใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แอบอ้างสิทธิหุ้นกู้เพื่อบิดเบือนเจตนาของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ
2.บริษัทฯ ไม่มีเหตุที่จะต้องฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากบริษัทฯ มิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามมาตรา 90/3 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย ดังที่ปรากฏจากงบการเงินประจำปี 2559 ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าบริษัทฯ มีสินทรัพย์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 รวม 12,630,122,220 บาท มีหนี้สินรวม 9,343,680,299 บาท ซึ่งแสดงว่า บริษัทฯ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน
3.ผู้ร้องขอแต่งตั้งนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งที่นายศุภนันท์ ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ ให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิดเป็นเงิน 31.96 ล้านบาท และสำนักงาน ก.ล.ต. มีคำสั่งให้นายศุภนันท์ฯ พ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทฯ และไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนแห่งอื่น เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2561 เป็นต้นไป
4. บริษัทฯ มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนกรรมการที่ไม่ครบเป็นองค์ประชุม จากการถูกขัดขวางโดยนายวิชัย และนายศุภนันท์ มุ่งครอบงำ ควบคุมอำนาจการบริหารจัดการบริษัทฯ ปกปิดข้อมูลสถานะของกิจการ ผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้ การกระทำของนายวิชัย โดยมีนายศุภนันท์ เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนมาตั้งแต่ต้น
ประเด็นที่ 5. การดำเนินการให้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ตามม. 83 เพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ ให้ มีจำนวนกรรมการครบเป็นองค์ประชุม เป็นวิธีที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้บริษัทฯ กลับมาประกอบธุรกิจปกติได้โดยเร็ว
“ผู้ถือหุ้นรายย่อย ต้องขอขอบคุณกรรมการไอเฟคทั้ง 2 ท่าน คือ พล.ต.บุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ และนายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูมิ กรรมการที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ทำหน้าที่ปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯแทนผู้ถือหุ้น เข้าไปตรวจสอบการดำเนินกิจการของไอเฟค แต่ยังถูกขัดขวางการทำงานจากนายวิชัย อีกทั้งยังมีกลุ่มบุคคลพยายามเคลื่อนย้ายเอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ ออกไปจากบริษัทฯ และพนักงานไม่เข้ามาทำงานในสำนักงานใหญ่ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับของบริษัทฯอย่างร้ายแรง” ผู้ถือหุ้นกล่าว