เศรษฐกิจ Q1/66 โต 2.7% ดีเกินคาด ยืนเป้าทั้งปี 2.7-3.7%

HoonSmart.com>>สภาพัฒน์ เผยเศรษฐกิจไตรมาส1/66 เติบโต 2.7% ดีกว่าตลาดคาดที่ 2.3-2.4%  คงเป้าหมายทั้งปีขยายตัว 2.7-3.7% ท่องเที่ยวหนุน เสนอรัฐบาลใหม่  2 เรื่องเร่งด่วน เร่งผลักดันการส่งออก-ดูแลปากท้องประชาชน แนะนำกำหนดนโยบายคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ อย่าเพิ่มภาระต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ หวั่นเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศจะตีจาก กดดันเงินเฟ้อพุ่งขึ้น  

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 1/2566 ขยายตัว 2.7% สูงกว่าที่ตลาดคาดขยายตัว 2.3-2.4% และเร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 4/2565 เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ไตรมาสแรกขยายตัวจากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา  1.9%  โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมทั้งการผลิตในภาคเกษตร ขณะที่การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน และรายรับจากบริการต่างประเทศยังคงขยายตัวต่อเนี่อง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์  กล่าวว่า  ในช่วงไตรมาส 1/2566 การส่งออกบริการ และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวลดลง ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมฯ สาขาการก่อสร้าง และสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ ปรับตัวลดลง

ทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.05% ต่ำกว่า 1.15% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า 1.53% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2% เทียบกับ 5.8% และ 3.2% ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4 พันล้านดอลลาร์ (13.9 หมื่นล้านบาท) ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมี.ค.2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,797,505 ล้านบาท คิดเป็น 61.2% ของ GDP

“คงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุน โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.7% การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.9% และ 2.7% ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP” นายดนุชากล่าว

ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับประเด็น 1. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า 2. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ให้เกิดการลงทุนจริง   3. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง  4. การดูแลผลผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร และ5. การรักษาบรรยาการทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567

เลขาธิการสภาพัฒน์ แนะนำการทำนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาว่า การใช้งบประมาณในการทำนโยบายต่างๆ ระยะต่อไป ควรต้องคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด เพราะจะมีผลต่อการที่ต่างประเทศจะประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป นอกจากนี้ควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง ที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง

“หากนโยบายเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับภาคธุรกิจแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นที่ภาคธุรกิจจะต้องส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมายังผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของประเทศ นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติด้วย อาจกลับทิศได้  ดังนั้นรัฐบาลจะต้องพิจารณาผลดี และผลเสียว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่ใช่กระทบแค่ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจด้วย” เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ

ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรต้องทำก่อนเป็นลำดับแรกๆ คือจะต้องเร่งผลักดันด้านการส่งออกของไทยไปยังตลาดโลก ทั้งสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม รองลงมา คือ การดูแลปากท้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาราคาพลังงานสูงทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะมีมาตรการดูแลราคาพลังงานได้ตามที่ประกาศไว้เป็นโยบายในช่วงหาเสียงหรือไม่

นายดนุชากล่าวว่า  การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในกรณี worst case จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2567 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งหางบประมาณมาอัดฉีด โดยเฉพาะการลงทุน เช่น งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณ จะต้องมีการเร่งในช่วงเดือน ก.ย. 2566 ให้สามารถใช้ได้ในช่วงปลายปี ประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีปฏิทิน ก็คาดว่าจะมีงบลงทุนอีก 2 แสนล้านบาท ที่จะใช้ได้ในช่วงไตรมาส 1/2567