ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางสภาพอากาศ ทั้งมลพิษทางอากาศ, PM2.5 และอุณหภูมิที่กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจึงกลายเป็นวาระระดับโลกที่ทุกคนต้องช่วยกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันเป็นยุคที่เราต้องคืนให้ธรรมชาติมากกว่าที่ได้ทำลายลงไป และประเทศต่าง ๆ ต้องร่วมกันลดมลพิษให้ได้มากกว่าที่ปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศ
ในปี 2023 สำนักข่าว CNBC รายงานว่าหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป (C3S) ระบุว่า อุณหภูมิทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2023 จนถึงปัจจุบัน สูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดของโลก นอกจากนี้ ในรายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2022 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกจากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่อันดับที่ 57 จากทุกภูมิภาคทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของก๊าซเรือนกระจกยังคงพุ่งสูงขึ้น จากการกิจกรรมของมนุษย์ในการปล่อยมลพิษ ทั้งการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ) การตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้จากภาคอุตสาหกรรม ที่เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน จนเกิดภัยต่าง ๆ ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้งรุนแรง การขาดแคลนน้ำ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย วาตภัยขนาดใหญ่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศที่แปรปรวน จากข้อมูลข้างต้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง
ในขณะที่หลายองค์กรทั่วโลกประกาศความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการให้คำมั่นสัญญาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเป็นเหตุผลให้ปัจจุบันทั่วโลกกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่า สภาพอากาศเชิงบวก (Climate Positive)
แล้วอะไรคือความต่างของ Carbon Neutral, Net Zero และ Climate Positive?
(*คาร์บอนเครดิต คือสิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม ถ้าปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ปริมาณคาร์บอนที่เหลือก็จะนำมาตีราคา และถูกขายเป็นคาร์บอนเครดิตให้องค์กรอื่นได้)
แม้ว่า ณ ปัจจุบัน เราได้เห็นการขับเคลื่อนทางด้านนโยบาย และกิจกรรมต่าง ๆ ด้านสภาพภูมิอากาศจากภาครัฐและเอกชน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับสภาพแวดล้อมหรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สภาวะโลกร้อน” ที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 3°C ถึงแม้ดูว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก แต่สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตได้มากมายมหาศาล
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียสถือเป็น “จุดเปลี่ยนหลัก” (Climate Tipping Point) ซึ่งเมื่ออุณหภูมิโลกสูงกว่าตัวเลขที่กล่าวมา จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศน์โลกอย่างรุนแรงและไม่อาจหวนคืน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถแก้ไขและย้อนกลับได้ ดังนั้น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจำกัดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050
นอกจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ธุรกิจ และองค์กรต่าง ๆ ต้องเร่งผลักดันเรื่อง Net Zero และ Climate Positive ได้แก่
1. ความคาดหวังของลูกค้าที่จะเปลี่ยนไปจากเดิม
ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มองหาผลิตภัณฑ์ และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม โดย 76% ของผู้บริโภคกล่าวว่า จะหยุดซื้อสินค้าจากบริษัทที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม พนักงาน และชุมชนต่าง ๆ
นอกจากนี้ ในรายงานที่จัดทำโดย First Insight และ Baker Retailing Center ในปี 2022 ระบุว่าผู้บริโภค GenX ซื้อผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้น เกือบ 25% และพร้อมที่จะใช้เงินไปกับผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนมากขึ้นถึง 42% ในขณะเดียวกัน พบว่าแบรนด์ทั่วโลก ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น อาทิเช่น ในปี 2023 Watson ได้มีการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล (Post-Consumer Recycled : PCR Plastic) และกระดาษที่ได้รับการรับรองจาก FSC2 ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้
2. กฎหมาย และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
ในหลายประเทศเริ่มมีการใช้ภาษีคาร์บอน หรือภาษีที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ และองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กําหนด ตัวอย่างเช่น ภาษีคาร์บอนในประเทศสวีเดน 127 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ และประเทศสิงคโปร์ได้ประกาศขึ้นภาษีคาร์บอนจาก 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซค์ในปี 2024 และจะเพิ่มเป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2026 และ 50-80 ดอลลาร์สิงคโปร์ภายในปี 2030
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้รับแรงกดดันจากประเทศหัวเรือใหญ่ทางเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมระดับโลก COP27 (การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27) โดยการรวมตัวกันของประเทศภาคี 200 ประเทศ เช่น จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ เป็นต้น เพื่อทำข้อตกลงกันเรื่องการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส มาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
3. สภาพอากาศที่ย่ำแย่ส่งผลเสียต่อธุรกิจ
การจัดการธุรกิจที่เน้นแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว สามารถช่วยให้ธุรกิจมีต้นทุนที่ลดลงได้ ตัวอย่างเช่น บทสัมภาษณ์ของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ฟาร์มเลี้ยงหมูมีการเอาของเสียไปผลิตเป็นพลังงานไบโอแก๊ซกลับมาใช้ พบว่าในระยะ 10 ปี สามารถช่วยประหยัดต้นทุนได้ถึง 3,000 ล้านบาท
หลายคนอาจรู้สึกว่า การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่เร่งด่วน แต่จากรายงานของ UN Climate Report ล่าสุด ระบุว่าต้นทุนของการเพิกเฉยเรื่องนี้จะสูงกว่าต้นทุนของการดำเนินการ ดังนั้น ถ้าเราไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ อาจส่งผลให้เกิดความสูญเสียในการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้
เมื่อธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานทดแทน หรือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยมลพิษและของเสีย สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นรางวัลให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดลูกค้า นักลงทุน และชุมชนที่ให้การสนับสนุนได้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างแบรนด์หนึ่งที่เห็นชัดเจนถึงการก้าวข้ามธุรกิจสู่ Climate Positive คือ อีเกีย (IKEA) ที่ประกาศอย่างชัดเจนบนหน้าเว็บไซต์ของตนเองว่า บริษัทมีเป้าหมาย Climate Positive ภายในปี 2030 ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่าที่ปล่อยออกไป
สิ่งที่อีเกียทำ คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ตกแต่งใหม่ ผลิตซ้ำ และรีไซเคิล เพื่อยืดอายุการใช้งานและสร้างขยะให้น้อยที่สุด มุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ อีเกียยังมีเป้าหมายในการใช้เฉพาะวัสดุหมุนเวียนหรือวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ของตัวเองภายในปี 2030 และดำเนินการจัดหาวัสดุ และอาหารจากแหล่งที่ยั่งยืนมากขึ้น จะเห็นได้ว่าการผนวกแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ ทำให้อีเกียมีการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้นด้วย
แล้วตัวธุรกิจเอง จะสร้าง Climate Positive ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?
ในเว็บไซต์ plana.earth ระบุว่า ธุรกิจต้องเริ่มจากการเข้าใจ Carbon Footprint ของตัวเองก่อนว่าคืออะไร ต้องคำนวณว่าธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์นั้นมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการจัดจำหน่าย ซึ่งทุก ๆ ขั้นตอนล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ธุรกิจสามารถใช้กลยุทธ์ในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อช่วยให้บรรลุ Climate Positive ได้ ซึ่งประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลักคือ
1. การชดเชย:
สามารถทำได้โดยใช้ป่าไม้ ดิน หรือมหาสมุทรเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ เป็นต้น ตามข้อมูลของ Global Carbon Budget ระบุว่าแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติของโลกมี 3 แหล่งหลัก ๆ ได้แก่ ทะเลและมหาสมุทร (Blue Carbon) ต้นไม้ และป่าไม้ (Green Carbon) และชั้นบรรยากาศ (Atmosphere) การชดเชยที่ว่าคือ การปลูกป่า เพื่อเพิ่มต้นไม้ที่จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้น หรือแม้แต่การดูแลพืชทะเลต่าง ๆ ที่จะคอยกักคาร์บอนได้ไปอีกหลายพันปี
2. การหลีกเลี่ยง:
เกิดขึ้นเมื่อธุรกิจออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ การลดการใช้ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดมลพิษ การออกแบบสิ่งของเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้าให้ส่วนลดพิเศษกับลูกค้าที่งดการใช้ถุงพลาสติก การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งผู้บริโภคสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น
ในฝั่งของนักลงทุนเองก็มีส่วนช่วยให้ Climate Positive เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากผลตอบแทนทางการเงินแล้ว การลงทุนที่ยั่งยืนยังช่วยให้นักลงทุนสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ อีกทั้งการลงทุนที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่การรับผิดชอบต่อสังคมเท่านั้น ยังเป็นกลยุทธ์ทางการเงินที่ชาญฉลาดอีกด้วย เพราะเม็ดเงินของนักลงทุนที่ได้ลงทุนไปนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดจุดเริ่มต้นใหม่ ๆ สู่ความยั่งยืนได้ เพราะการจะเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจต้องใช้เงินทุนในการลงทุนกับเทคโนโลยี อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ดังนั้น บางธุรกิจที่เริ่มต้นไม่ได้ทันที เหตุผลหนึ่งก็มาจากการขาดเงินลงทุนที่มากพอ ดังนั้น เม็ดเงินของนักลงทุนจึงอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เนรมิต Climate Positive ให้เกิดขึ้นจริงได้เร็วมากขึ้น
แม้การจัดการธุรกิจไปสู่การสร้าง Climate Positive ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้หากทุกคนร่วมมือกัน เพื่อช่วยให้โลกพ้นวิกฤตสภาพภูมิอากาศในวันนี้ และเพื่อสร้างโลกที่ปลอดภัยและยั่งยืนของเราทุกคนในอนาคต
บทความโดย บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด
ติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืนได้ที่ https://www.uobam.co.th/th/Sustainability
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2786-2222
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถติดตามข่าวสารด้าน ESG, ด้านการลงทุน, วางแผนการเงิน, บทความทางการเงิน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่ UOBAM Thailand Line Official
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• https://www.ikea.com/global/en/our-business/people-planet/what-is-climate-positive/
• https://www.bbc.com/thai/articles/c3g3x91652go
• https://plana.earth/academy/what-is-difference-between-carbon-neutral-net-zero-climate-positive
• https://greenly.earth/en-us/blog/company-guide/why-should-you-become-climate-positive#anchor-31
• https://www.forbes.com/sites/forbesbusinesscouncil/2020/01/08/creating-a-climate-positive-company/?sh=6bc5f5333363
• https://go-positive.co.uk/climate-positive
• https://www.pwc.com/us/en/services/consulting/library/consumer-intelligence-series/consumer-and-employee-esg-expectations.html
• https://www.infoquest.co.th/2023/340622#:~:text=%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4,%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%AB%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C
• https://greennews.agency/?p=9915
• https://www.greennetworkthailand.com/watsons/
• https://globalcompact-th.com/news/detail/1054
• https://www.sdgmove.com/2022/03/01/singapore-raise-carbon-tax-by-five-fold/