THREL พลิกขาดทุน 15 ลบ. Q1/66 ขาดทุนรับประกันภัย ค่าสินไหมเพิ่มขึ้น

HoonSmart.com>> “ไทยรีประกันชีวิต” (THREL) เปิดงบไตรมาส 1/66 พลิกขาดทุนสุทธิ 15 ล้านบาท จากกำไร 70 ล้านบาทงวดปีก่อน เหตุขาดทุนจากการรับประกันภัย 27 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายการรับประกันภัยพุ่ง 145 ล้านบาท กว่า 24% ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นหลังจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น เผยอยู่ระหว่างทบทวนราคาค่าเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับการต่ออายุสัญญาให้เหมาะสม กางแผนปี 66 ลุยตลาดต่างประเทศเต็มสูบ ผนึกพันธมิตรพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่รองรับด้านจิตเวชและกลุ่มผู้สูงวัย ปักธงเบี้ยรับรวมปี 66 เติบโต 4-5% สูงกว่าอุตสาหกรรม พร้อมรักษาระดับ Combined Ratio ที่ 95%

บริษัท ไทยรีประกันชีวิต (THREL) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 14.67 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.02 บาท ลดลง 120% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 70.12 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.12 บาท

สาเหตุที่ขาดทุนสุทธิเนื่องจากบริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการรับประกันภัยจำนวน 27 ล้านบาท ลดลง 125 ล้านบาท หรือ -127% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยต่อรับรวม 668 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นเบี้ยประกันภัยต่อที่ถือเป็นรายได้สุทธิ 712 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19 ล้านบาท หรือ 3% เป็นผลมาจากงานประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อและโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้นของงานต่างประเทศและการเติบโตของงานประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อในประเทศ

ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยรวม 739 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 145 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ซึ่งมีผลให้ combined ratio ของไตรมาส 1/2566 เท่ากับ 108.2% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.7 จุด โดยมีสํารองประกันภัยสำหรับสัญญาประกันภัยระยะยาว เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23 ล้านบาท โดยหลักเกิดจากงานประกันชวีติระยะยาวที่เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวของการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย (Discount rate) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ค่าสินไหมทดแทนรวมเพิ่มขึ้น 78 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักการเพิ่มขึ้ของค่าสินไหมทดแทนของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ดังนั้น การสะสมของการเข้ารักษาพยาบาลของ Non-COVID จากช่วงปี2563-2564 ที่กลับเข้าสู่ระบบ การรักษาพยาบาลหลังสถานการณ์ COVID คลี่คลาย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงกว่าปกติในช่วงเข้าสู่ระบบ การรักษาพยาบาลหลังสถานการณ์ COVID คลี่คลาย ทําให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงกว่าปกติในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ต่อเนื่องต้นปี 2566 และอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น (medical cost inflation) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อในปี 2565

ค่าบําเหน็จสุทธิเพิ่มขึ้น 45 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักเกิดจาก Profit commission ที่สูงขึ้นตามเงื่อนไขผลกําไรการรับประกันงานประกันชีวิตเพื่อคุ้ม ครองสินเชื่อปี 2565 ที่มีค่าสินไหมทดแทนต่ำกว่าของปีก่อนหน้า (ปี 2564) ซึ่งมีการเรียกเก็บเข้ามาในต้นปี 2566

อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายจากการรับประกันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 1/2566 โดยหลักเป็นรายการชั่วคราว (one-time) ไม่ว่าจะเป็นค่าบําเหน็จที่เรียกเก็บตามรอบปี(Seasonal) และจํานวนการเข้ารักษาพยาบาลสะสม ที่คาดว่าจะทยอยกลับสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาสถัดไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนราคาค่าเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับการต่ออายุสัญญาให้เหมาะสม เพื่อให้อัตราค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ย (Loss ratio) และอัตราค่าใช้จ่ายรวม (Combined ratio) กลับเข้าสู่เกณฑ์เป้าหมาย

“บริษัทฯ เร่งดำเนินการทบทวนค่าเบี้ยประกันสุขภาพให้มีความสอดคล้องกับ medical inflation และ มุ่งเน้นความสำคัญในการคุมเข้มความเสี่ยงของการรับงาน เพื่อควบคุมคุณภาพผลการรับประกันภัยให้ combined ratio กลับสู่ระดับ 95% และยังมีการขยายงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อการเติบโตที่มั่นคงและแข็งแกร่งในระยะยาว สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง” นายสุทธิ รจิตรังสรรค์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยรีประกันชีวิต (THREL)

สำหรับแนวโน้มและทิศทางภาพรวมปี 2566 ว่า บริษัทฯเดินหน้าลุยตลาดต่างประเทศเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย, ไต้หวัน, กัมพูชา และสปป.ลาว ที่ยังมีแนวโน้มอัตราการขยายตัวในระดับสูง พร้อมมองหาโอกาสใหม่ๆขยายงานตลาดในประเทศ ทั้งงานประกันชีวิตแบบดั้งเดิม (Conventional) และงานร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่กับลูกค้า (Non-Conventional) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผนึกความร่วมมือพันธมิตร ร่วมคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านจิตเวช และกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อต่อจิ๊กซอว์ New S-Curve ขับเคลื่อนการเติบโตต่อเนื่อง เบื้องต้นตั้งเป้าผลักดันเบี้ยประกันภัยต่อรับรวมเติบโต 4-5% สูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตที่คาดการณ์เติบโตได้ราว 0-2% พร้อมรักษาระดับ Combined Ratio (COR) ไว้ที่ 95%

ล่าสุด บริษัทฯได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้จ่ายเงินปันผลงวดปี 2565 แก่ผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด อัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น คิดเป็นวงเงินรวม 52 ล้านบาท พร้อมหุ้น อัตรา 60 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายปันผลเป็นเงินสดหุ้นละ 0.0166 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปี 2565 บริษัทฯจ่ายปันผลทั้งสิ้น 0.166 บาทต่อหุ้น คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 100 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 65% ของกำไรสุทธิ ซึ่งสูงกว่าขั้นต่ำของนโยบายจ่ายเงินปันผลที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 หลังกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 9 พฤษภาคมนี้