ก.ล.ต.ปรับปรุงเกณฑ์การติดต่อ-บริการลูกค้ากรณีเสนอขาย IC Bond

HoonSmart.com>> ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับการเสนอขาย IC Bond ต่อผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน และการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับการเสนอขาย IC Bond และการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่นมากขึ้นเนื่องจากบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ผู้ประกอบธุรกิจ) ดังนี้

1. ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประกันภัย (Insurance Capital Bond หรือ IC Bond) สามารถเสนอขายต่อผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน ประกอบด้วย ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra-High Net Worth) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) และผู้ลงทุนทั่วไป จากเดิมที่กำหนดให้เสนอขายได้ในวงจำกัด ต่อผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ราย (PP-10) และผู้ลงทุนสถาบัน (II) เท่านั้น และเนื่องจาก IC Bond เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ปรับเกณฑ์เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้า ไปในแนวทางเดียวกับตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ (Basel III)* โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้อง

(1) จัดให้มีการทดสอบความรู้เพื่อประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม (Knowledge Test) เพิ่มเติม สำหรับการให้บริการลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันภัย

(2) จัดให้มีการอธิบายถึงสถานการณ์เชิงลบอย่างมากที่สุดที่อาจเกิดขึ้นให้กับลูกค้า

(3) จัดกระบวนการที่ทำให้ลูกค้าทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยไม่จำกัดรูปแบบในการดำเนินการ

2. การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ประกอบธุรกิจและลูกค้าไม่ต้อง “ลงนาม” รับทราบความเสี่ยง แต่ยังคงสาระสำคัญของความเสี่ยงที่ต้องจัดให้มีการอธิบายให้ผู้ประกอบธุรกิจและลูกค้าทราบถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนการเปิดบัญชีอย่างถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม โดยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับวิธีการเปิดเผยความเสี่ยงได้ตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับรูปแบบในการให้บริการ ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ Base III หมายถึง Basel III Bond หรือหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อ้างอิง Basel III ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สากลที่ใช้กำกับดูแลเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ โดย Basel III Bond จะมีความแตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปตรงที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำเงินทุนที่ระดมมาได้ไปใช้รองรับผลขาดทุนในกรณีประสบปัญหาทางการเงิน โดย Basel III Bond มี 2 ประเภท คือ Basel III Additional Tier 1 (AT1) หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 1 และ Basel III Additional Tier 2 (AT2) หรือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 2