HoonSmart.com>>หุ้น TU บวก 3.45% ฟื้นตัวหลังบริษัทยืนยันว่าไม่ได้ซื้อวัตถุดิบปลาทูน่า-ไม่เกี่ยวข้องกับเรือประมงผิดกฎหมาย ส่วนการขายเงินลงทุนในบริษัทร่วม Red Lobster ไม่ใช่ข่าวใหม่ ล่าสุดแนวโน้มผลประกอบการของ Red Lobster ดีขึ้นต่อเนื่อง น้ำหนักขายจึงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้บริษัทมีประกาศซื้อหุ้นคืนระหว่างวันที่ 3 ม.ค. – 30 มิ.ย. 66 และยังไม่เคยรายงานซื้อ ราคาเป้าหมาย 20.50 บาท
เมื่อเวลา 15.17 น.หุ้น TU บวก 3.45% มาที่ 15.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 619.32 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 14.50 บาท ขึ้นสูงสุด 15.00 บาท และต่ำสุด 14.30 บาท
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำ”ซื้อ”หุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ราคาหุ้นที่ปรับตัวย่อลงมาจึงมองเป็นโอกาสซื้อสำหรับการลงทุนระยะยาว และรับความผันผวนในช่วงสั้นได้ และประเมินว่า Downside risk จากนี้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันถูกซื้อขายที่ PER66 ต่ำเพียง 9.5 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 14 เท่า นอกจากนี้บริษัทมีประกาศซื้อหุ้นคืนระหว่างวันที่ 3 ม.ค. – 30 มิ.ย. 66 ด้วยงบ 3,000 ล้านบาท หรือไม่เกิน 200 ล้านหุ้น และยังไม่เคยรายงานซื้อ ราคาเป้าหมาย 20.50 บาท
ทั้งนี้ ราคาหุ้นปรับลงในวันศุกร์ (10 มี.ค.) จากประเด็นข่าว 2 ประเด็น คือ กรณีเรือประมงเกาหลีใต้ Sun Flower 7 บรรทุกปลาทูน่าผิดกฎหมาย IUU ลักลอบขึ้นฝั่งท่าเรือกรุงเทพเพื่อแปรรูปเป็นทูน่ากระป๋องส่งออก และมีข่าวจาก Bloomberg ว่าผู้บริหารให้ความเห็นว่ามีโอกาสในการพิจารณาขายกิจการ Red Lobster (บริษัทร่วมทุนในสหรัฐฯ ประกอบธุรกิจร้านอาหาร)
สำหรับประเด็นแรกได้สอบถามไปยังบริษัท โดยบริษัทยืนยันว่าไม่ได้ซื้อวัตถุดิบปลาทูน่า และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับเรือประมงผิดกฎหมายดังกล่าว และบริษัทยังยึดมั่นและให้ความสำคัญ ด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ SeaChange พร้อมกับเป็นพันธมิตรกับองค์กรการประมงเพื่อความยั่งยืน เพื่อสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท
ส่วนประเด็นการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทร่วม Red Lobster ไม่ใช่ข่าวใหม่ แต่เป็นข้อมูลเดิมที่ผู้บริหารเคยให้ไว้ในงานประชุมนักวิเคราะห์ว่า บริษัทมีกลยุทธ์ในการนำทีมผู้บริหารจาก TU เข้าไปปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจ Red Lobster โดยหากผลประกอบการยังไม่ฟื้นตัวและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ EBITDA 60 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในครึ่งแรกปี 66 บริษัทอาจพิจารณาขายธุรกิจดังกล่าวเพื่อไม่ต้องแบกรับส่วนแบ่งขาดทุนจากธุรกิจที่มีผลประกอบการอ่อนแอ
ทั้งนี้ ประเมินว่าหากผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายและมีการขายธุรกิจ Red Lobster จริง ในระยะสั้นราคาหุ้นอาจถูกกดดันจากโอกาสในการมีรายการขาดทุนพิเศษจากการด้อยค่าหรือการจำหน่ายเงินลงทุน ซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวซึ่งยังประเมินผลกระทบได้ยากเพราะขึ้นอยู่กับราคาขาย แต่ในระยะยาวมองเป็นบวกต่อผลการดำเนินงานของ TU ที่จะไม่ได้ต้องแบกรับส่วนแบ่งขาดทุนจาก Red Lobster ราว 500–1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 8–15% ของกำไรสุทธิทั้งปีของบริษัท และประเมินว่ามีผลกระทบต่อฐานทุนของบริษัทจำกัดในกรณีที่ขายขาดทุน (มูลค่าทางบัญชีของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิใน Red Lobster คิดเป็น 0.26 เท่าของ Book Value ของ TU) ดังนั้นกรณีการขาย Red Lobster มีมุมมองเป็นบวกมากกว่าไม่ขาย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่สอบถามไปยังบริษัท ผลประกอบการ YTD ของ Red Lobster มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากบริษัทเข้าไปปรับปรุงการดำเนินงาน, ปรับ Product Mix และควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น ทำให้ผลการดำเนินงานของ Red Lobster ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของบริษัท จึงทำให้เห็นน้ำหนักต่อโอกาสในการขายกิจการอยู่ในระดับต่ำ