HoonSmart.com>>”ดิษทัต ปันยารชุน”ซีอีโอ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก(OR) ควงคู่”สุชาติ ระมาศ” ผู้อำนวยการใหญ่ และรองซีเอฟโอแถลงข่าว สร้างความเชื่อมั่นธุรกิจเติบโตยั่งยืน ฉายภาพจุดแข็งทุกมิติ ปี 66 ทุ่มงบลงทุน 31,197 ล้านบาท ขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ชูเป็นเรือธง มั่นใจโตเป็นตัวเลข 2 หลัก เปิดสถานีบริการรูปแบบใหม่ตอบโจทย์เน็ตซีโร่ เผยผู้ใช้บริการ กิน-ดื่ม-ช้อป สูงแซงหน้าเติมน้ำมัน หาโอกาสลงทุนใหม่ ๆ โฟกัสพันธมิตรที่มีคุณภาพและแบรนด์ดีที่สุด เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ เสนอตัว OR เป็นเกตเวย์ให้กลุ่มปตท. ด้านพลังงานต่างประเทศเล็งเป้าหมายกัมพูชา
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2566 และอนาคตว่า มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน สานต่อและผลักดันวิสัยทัศน์ “Empowering All toward Inclusive Growth” ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยการนำจุดแข็งทั้งทางด้านเครือข่าย รวมถึงสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย และฐานะการเงิน สร้างการเติบโตไม่หยุด พร้อมผนึกกำลังทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม ปตท. เปิดประตูเพิ่มความร่วมมือ หาพันธมิตรที่มีคุณภาพ และแบรนด์ที่ดี มาเชื่อมแพลตฟอร์มมุ่งประสานธุรกิจพลังงานและไลฟ์สไตล์ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศ ผ่านการเสริมความเข้มแข็งของแต่ละธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตแห่งอนาคต
บริษัทได้เตรียมงบลงทุนจำนวน 31,197 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในปีนี้ แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่เป็นเรือธง จะใช้งบลงทุนราว 14,193 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 45% ของงบลงทุนทั้งหมด เพื่อรองรับการขยายและสร้างความแข็งแกร่งของ Business Value Chain เช่น ขยายสาขา Cafe Amazon จำนวน 400 แห่ง, ร้าน TEXAS Chicken เพิ่มอีก 12 แห่ง รวมถึงมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ (M&A) ต่อเนื่อง โดยสนใจทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B), ธุรกิจด้าน Health & Wellness และ Tourism ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ
“การลงทุนสมัยผมต้องโฟกัส และมีคุณภาพมีคนมาเสนอตัวจำนวนมาก เราต้องพยายามหาพาร์ทเนอร์ที่มีคุณภาพและแบรนด์ที่ดีที่สุด ไม่ใช่ดูเพียงผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น จะต้องเพิ่มคุณค่าด้วย ส่วนที่ซื้อมาแล้ว กำลังเติบโต ปีนี้ยังคงเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายสาขาร้าน Cafe Amazon ส่วนธุรกิจ Mobility ก็เติบโต มุ่งรักษาความเป็นผู้นำใน Mobility Ecosystem จัดสรรงบลงทุนประมาณ 6,799 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22% ขยาย PTT Station เพิ่มอีก 122 แห่ง จากปีก่อนอยู่ที่ 2,551 แห่ง และ EV Station PluZ เพิ่มอีก 500 จุด จากปีก่อนติดตั้งไปแล้ว 302 จุด และมีแผนติดตั้งโซลาร์รูฟสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเป็น 400 แห่งในสิ้นปีนี้ ” นายดิษทัตกล่าว
กลุ่มธุรกิจ Global การทำธุรกิจต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้นทุน ต้องดูโลเคชั่นที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีพันธมิตรที่ดี ปีนี้วางงบลงทุน 4,954 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% มุ่งขยาย PTT Station อีก 82 สถานีฯ และ Cafe Amazon เพิ่มอีก 112 แห่งผ่านบริษัทในเครือในต่างประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในประเทศที่ OR ได้เข้าไปทำธุรกิจแล้ว พร้อมแสวงหาพันธมิตรที่เข้มแข็ง และหาโอกาสลงทุนขยายสถานีบริการน้ำมันในประเทศใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกัมพูชา มีโอกาสเติบโตสูง จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมัน แตกต่างจากประเทศเวียดนามที่มีโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้การแข่งขันสูง โอกาสขายน้ำมันได้น้อย
ส่วนกลุ่มธุรกิจ Innovation จัดงบลงทุน 5,251 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17% มุ่งแสวงหาธุรกิจใหม่ต่อยอดธุรกิจเดิม โดยกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างนวัตกรรมในแบบฉบับของ OR เพื่อเป็นต้นแบบขององค์กรสมัยใหม่ และทำให้เติบโตไปพร้อมกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในนวัตกรรมเพื่อพัฒนาโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
“OR ยังให้ความสำคัญกับการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน SDG เพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย OR 2030 อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย S-SMALL โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก ยกระดับชุมชน D-DIVERSIFIED โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ G-GREEN โอกาสเพื่อสังคมสะอาด”นายดิษทัต กล่าว
ส่วนแนวโน้มการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทคาดยอดขายน้ำมันน่าจะเติบโตดีกว่าปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวคาดว่าจะเติบโต 3.7% และความต้องการใช้น้ำมันอากาศยาน (Jet) ฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีสถานการณ์โควิด อีกทั้งการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังจีนเปิดประเทศ ทำให้คาดว่าความต้องการใช้น้ำมัน Jet น่าจะกลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะเติบโตกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2567 ปัจจุบัน OR มีมาร์เก็ตแชร์ในส่วนของน้ำมัน Jet สูงเกือบ 50% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดราว 1,600 ล้านบาท ของมูลค่าตลาดรวม 3,200 ล้านบาท หากดีมานด์น้ำมันกลับมาเติบโตเหมือนในอดีต คาดจะส่งผลดีต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเบนซินและดีเซลก็มีแนวโน้มเติบโตได้ค่อนข้างดีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม รายได้จะเติบโตเท่าไร ยังขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันด้วย โดยทางกลุ่ม ปตท.ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 80-87 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 96 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลส่วนแผนการบริหารจัดการต้นทุน เชื่อมั่นว่า OR จะทำได้ดีขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ในช่วงไตรมาส 4/2565 ที่โรงกลั่นขนาดใหญ่ของไทยปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น 2 โรงพร้อมกัน จึงต้องสต็อกน้ำมันล่วงหน้า 2 เดือน และยังมีประเด็นราคา LNG สูง ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น รัฐบาลจึงได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเปลี่ยน LNG มาเป็นน้ำมัน ซึ่ง OR เป็นหนึ่งในผู้ที่จะต้องนำเข้าน้ำมันเพื่อให้ประชาชนมีต้นทุนของการใช้ไฟฟ้า และต้นทุนของโรงไฟฟ้าต่ำลง ซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (One Time) ส่วนการซื้อเครื่องมทอป้องกันความเสี่ยงจากสต๊อก (การทำ Hedging) ไม่เป็นประเด็นสำหรับ OR เพราะธุรกิจเป็นการซื้อน้ำมันเข้ามาแล้วขายออกเร็ว ไม่ได้สต๊อกมาก และเก็บเป็นเดือนเหมือนบริษัทแห่งอื่น
ด้านนายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR กล่าวว่า บริษัทโฟกัสธุรกิจ Retail มากขึ้น กำลังดีซายน์สถานีบริการรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายตัว เพิ่มธุรกิจค้าปลีกในปั๊มมากขึ้น มีโซลาร์รูฟท็อป พร้อมสามารถวัดการเกิดคาร์บอนและตอบโจทย์เน็ตซีโร่ เชื่อมพลังงานสะอาดครบวงจร นอกจากนี้ลูกค้าของ OR ที่มาใช้บริการสถานีบริการก็เปลี่ยนแปลง จากเดิมมาใช้บริการน้ำมัน 55-60% ปัจจุบันลดลงเหลือสัดส่วน 45% มีการใช้บริการค้าปลีกมากขึ้น