HoonSmart.com>>MEB หุ้น E-BOOK เบอร์ 1 ของไทย ไร้หนี้ -พันธมิตรแน่น
ภาพรวมของแนวโน้มอุตสาหกรรมวรรณกรรมออนไลน์ในประเทศไทยจะยังคงมีการเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่องภายหลังจากการระบาดของ COVID-19 โดยข้อมูลสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือในประเทศไทย (PUBAT) แสดงให้เห็นว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมหนังสือออนไลน์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2564 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยที่ 38% ต่อปี โดยส่วนแบ่งการตลาดของหนังสือออนไลน์ต่อมูลค่าอุตสาหกรรมหนังสือในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 18.5% ในปี 2564 ซึ่งมีการประเมินกันว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมหนังสือออนไลน์ ยังอยู่ในระดับมากกว่า 10% ต่อปี ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า
บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น (MEB) ดำเนินธุรกิจจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ผ่านแพลตฟอร์ม meb และ readAwrite เป็นแพลตฟอร์มสำหรับอ่านวรรณกรรมออนไลน์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย โดยมีวรรณกรรมเพื่อนักอ่านมากกว่า 1 ล้านเรื่อง และมีสมาชิกมากกว่า 8 ล้านราย ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมวรรณกรรมออนไลน์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ยังเป็นมีบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือครองหุ้นผ่านบริษัทในเครือ และยังเป็นพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง พร้อมที่จะสนับสนุนการเติบโตได้เป็นอย่างดี
ภายใต้แกนนำของ “รวิวร มะหะสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MEB กล่าวว่า การเติบโตจากจุดเริ่มต้นของบริษัทขนาดเล็ก ค่อย ๆ มีการพัฒนาจนสามารถผลักดันเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้สำเร็จ และจากนี้ไปก็จะเร่งพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มที่ดี มีพื้นฐานแน่นเข้าใจง่าย เติบโตได้อย่างมั่นคง ซึ่งพร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกัน
“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทัพย์ mai จะเพิ่มศักยภาพทั้งภาพลักษณ์เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับแผนการขยายธุรกิจ สร้างแพลตฟอร์มใหม่หรือการควบรวมกิจการหรือการเข้าซื้อกิจการในอนาคต เป็นเป้าหมายแรกที่จะรุกขยายไปจะเป็นโซนกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตได้อย่างแน่นอน และการรุกขยายไปตลาดต่างประเทศเป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตได้เป็นอย่างดีในอนาคต ซึ่ง MEB มีความพร้อมทั้งในด้านฐานะการเงินที่มั่นคงรวมทั้งมีพันธมิตรรายใหญ่ที่แข็งแกร่งอย่าง CRC ช่วยสนับสนุนต่อยอดธุรกิจอีกด้วย”
ทั้งนี้ MEB เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75.5 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 25.17 % ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด เสนอขายหุ้นละ 28.50 บาท ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 14 ก.พ. 2566 ใช้ชื่อย่อ “MEB” ในหมวด บริการ
วัตถุประสงค์การระดมทุน บริษัทฯ จะนำไปใช้ลงทุน 619.83 ล้านบาท โดยลงทุนขยายธุรกิจที่อยู่ในแพลตฟอร์มปัจจุบัน (meb readAwrite และ Hytexts) โดยการเพิ่มเนื้อหาวรรณกรรมออนไลน์จะใช้เงิน ประมาณ 320 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจปัจจุบันไปยังต่างประเทศ มูลค่าประมาณ 230 ล้านบาท และเพื่อใช้ในการปรับปรุงพัฒนาแพลตฟอร์มปัจจุบันให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ ประมาณ 69.83 ล้านบาท
จุดเด่นของ MEB ที่น่าสนใจ คือความเป็นนัมเบอร์วันในหลายมิติ ตั้งแต่การมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากรายได้รวมเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในด้านความพึงพอใจของผู้ใช้งาน โดยแอปพลิเคชัน meb และ readAwrite มี Review Score ที่สูงที่สุดบน App Store และ Google Play Store ประเทศไทย ขณะที่ในส่วนของอัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้ 3 ปีย้อนหลัง บริษัทฯ มีอัตราการเติบโตของรายได้สูงสุดในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน รวมทั้งในด้านของจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ จะพบว่า readAwrite เป็นเว็ปไซต์ E-Book สัญชาติไทยที่มีสถิติผู้เข้าชมเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย
หากพิจารณาที่ผลการดำเนินงานย้อนหลังสะท้อนให้เห็นว่า รายได้และกำไรมีการเติบโตสูง อยู่ในฐานะที่มั่นคง และไม่มีภาระหนี้สินให้เป็นภาระหรือกดดันความสามารถในการทำกำไรในอนาคต โดยในปี 2562 – 2564 และงวด 9 เดือนของปี 2565 มีรายได้รวมเท่ากับ 618.72 ล้านบาท 1,004.68 ล้านบาท 1,456.38 ล้านบาท และ 1,263.54 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 82.09 ล้านบาท 164.74 ล้านบาท 275.34 ล้านบาท และ 241.85 ล้านบาท ตามลำดับ
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าอัตราการเติบโตรายได้ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ยอยู่ที่ 53.3% อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 18-19% และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 26-28% ขณะที่อัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้น ล่าสุด 9 เดือน ปี 65 อยู่ที่ 0.03 เท่า
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลของโบรกเกอร์ที่ประเมินราคาหุ้นตามปัจจัยพื้น พบว่าจะอยู่ที่ราคา 27.1-32.0 บาท/หุ้น เนื่องจากคาดว่า การเติบโตของกำไรปีในช่วง 3 ปี ( 2565-2567) จะเติบโตในระดับ 15-18% เนื่องจากแนวโน้มอุตสาหกรรมวรรณกรรมมีกระแสตอบรับจากการขยายเนื้อหา ส่วนรูปแบบและตลาดการให้บริการโดดเด่น เช่น กลุ่มการ์ตูน,readAwrite รวมถึงการรุกขยายไปในตลาดต่างประเทศจะช่วยเพิ่มมูลค่าในอนาคต
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง ประเมินว่า มูลค่าพื้นฐานปี 2566 ของ MEB ที่ 8,144-9,600 ล้านบาท หรือเทียบเป็นราคา 27.1-32.0 บาท/หุ้น โดยอิงวิธีการประเมินมูลค่ากิจการแบบ PEG ที่ 1.23 เท่า (ค่าเฉลี่ยของผู้ผลิตเนื้อหาชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ) เมื่อนำไปคิดกับ 2566 EPS ที่ 1.24 บาทต่อหุ้น และการเติบโตของกำไรปี 2566 ที่ 17.8% ได้มูลค่าพื้นฐานจากวิธี PEG ที่ 27.1 บาท คิดเป็น implied PER ที่ 21.8 เท่า สำหรับวิธี DCF คิดบนสมมติฐาน WACC ที่ 9.9% และ Terminal growth ที่ 1.5%จะได้มูลค่าพื้นฐานของ MEB ที่ 32 บาทต่อหุ้น คิดเป็น Implied PER ปี 2566 ได้ที่ 25.7 เท่า
คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2565-2567 อยู่ที่ 317 373 และ 436 ล้านบาท เติบโต 15.0% 17.8% และ 16.9% ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 16.6% CAGR ปี2565-2567 การเติบโตของ MAU ของทั้ง meb และ readAwrite เป็นปัจจัยหลักในการหนุนการเติบโตของกำไร และประเด็นที่สนับสนุนการลงทุนประกอบด้วย MEB เป็นแพลตฟอร์มหนังสือออนไลน์ที่มีรายได้เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย
อุตสาหกรรมหนังสือออนไลน์ยังมีแนวโน้มการเติบโตสูง มีกลยุทธ์ “เจอ จ่าย จบ” ทำให้ MEB แปลงผู้ใช้งานเป็นยอดรายได้และกำไรจริง และความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการเงินแข็งแกร่งโดยเฉพาะการที่ CRC เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MEB ก็มีส่วนช่วยทำให้บริษัทฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานในหลายด้าน
สอดคล้องกับบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ MEB ที่ 29.50 บาท/หุ้น ด้วยวิธี PE 24 เท่า จากเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมวรรณกรรมออนไลน์ของไทย มีส่วนแบ่งการตลาดและอัตราการเติบโตเชิงรายได้มากสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ , มีทีมผู้บริหารมืออาชีพ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพผสานกับกระแสการเติบโตของอุตสาหกรรมวรรณกรรมออนไลน์ที่สูงขึ้นสนับสนุนให้ปริมาณการใช้งานจากผู้ใช้งานของแพลตฟอร์มบริษัทในช่วงที่ผ่านมาให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
คาดปี 2565-2567 กำไรสุทธิเฉลี่ยเติบโตกว่า18% ประโยชน์จาก Big data , กระแสตอบรับจากการขยายเนื้อหา, รูปแบบและตลาดการให้บริการ เช่น กลุ่มการ์ตูน, readAwrite และตลาดต่างประเทศ เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า MEB เป็นหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่มีความน่าสนใจ และควรมีติดพอร์ตลงทุนไว้ เพราะอยู่ในธุรกิจออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลกยุคดิจิทัล ดังนั้น โอกาสการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการรุกขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งวรรณกรรมออนไลน์ของไทย น่าจะเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดการเติบโตทั้งรายได้และกำไร พร้อมกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น MEB ได้อย่างแน่นอน