ปี 65 คดีหุ้นเพิ่ม 3 เท่าตัว ก.ล.ต.ฟัน 91 ราย-ปรับรวม 201 ล.

HoonSmart.com>>สำนักงาน ก.ล.ต.เผยผลงานปี 65 ดำเนินคดีอาญาเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากปี 64 จาก 10 คดีเพิ่มเป็น 31 คดี กล่าวโทษผู้กระทำความผิดรวม 91 ราย เปรียบเทียบปรับ 209 ราย ได้เงินค่าปรับ 127 ล้านบาท คดีแพ่งได้ค่าปรับอีก 74 ล้านบาท เผยปี 65 อนุมัติขาย IPO รวม 1.28 แสนล้านบาท ลดจาก 1.37 แสนล้านบาทปี 64 ส่วนตราสารหนี้เพิ่มเป็น 2.57 ล้านล้านบาท จาก 2.27 ล้านล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยผลการดำเนินงานในปี 65 ในด้านการบังคับใช้กฎหมายมีการดำเนินคดีอาญา ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 31 คดี มีผู้ถูกกล่าวโทษ 91 ราย เพิ่มจากปี 64 ที่มี 10 คดี ผู้ถูกกล่าวโทษ 49 ราย กรณีการเปรียบเทียบปรับ (เฉพาะกรณีที่มีการชำระค่าปรับ) ได้ดำเนินการผู้กระทำความผิด 209 ราย จำนวน 418 ข้อหา ได้เงินค่าปรับ 126.56 ล้านบาท เทียบกับปี 64 มีผู้กระทำความผิด 58 ราย จำนวน 131 ข้อหา ได้เงินค่าปรับ 45.67 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินคดีทางแพ่ง มีจำนวน 8 คดีเท่ากับปี 64 แต่ผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้นเป็น 42 รายจากปี 64 ที่มี 37 ราย  ค่าปรับทางแพ่ง 74.04 ล้านบาท เงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับ 22.15 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 64 ที่ได้รับค่าปรับทางแพ่ง 178.71 ล้านบาท เงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับ 31.81 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่ง และเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด เป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลังแล้ว นอกจากนี้ ยังมีเงินชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 1.95 ล้านบาท เพิ่มเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 1.64 ล้านบาทในปี 64

กรณีผู้กระทำความผิดที่ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่ ค.ม.พ. กำหนด ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ส่งฟ้องต่อศาลแพ่งจำนวน 2 ราย จำนวนเงินที่ขอให้ศาลสั่ง 12.08 ล้านบาท ลดลงจากปี 64 ที่มีส่งฟ้องศาลแพ่ง 5 ราย จำนวนเงินที่ขอให้ศาลสั่ง 226.89 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ขอให้ศาลสั่งตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ประกอบด้วย ค่าปรับ, การเรียกคืนผลประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ

ยังมีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะการดำเนินการทางบริหาร อาทิ การสั่งพักการทำหน้าที่ การเพิกถอนความเห็นชอบในการทำหน้าที่ ดังนี้ สั่งพักผู้แนะนำการลงทุน 4 ราย, ผู้สอบบัญชี 1 ราย เพิกถอนความเห็นชอบในการทำหน้าที่ ผู้แนะนำการลงทุน 10 ราย เทียบกับปี 64 สั่งพักผู้แนะนำการลงทุน 11 ราย, ผู้บริหาร 2 ราย และเพิกถอนความเห็นชอบในการทำหน้าที่ ผู้แนะนำการลงทุน 3 ราย ผู้บริหาร 1 ราย ทั้งนี้ ผู้บริหาร หมายความรวมถึง ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ และผู้จัดการสาขา

สำนักงาน ก.ล.ต.เปิดเผยว่า ในปี 65 มีมูลค่าการเสนอขายตราสารทุน รวม 2.56 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ขายประชาชนครั้งแรก (IPO) 1.28 แสนล้านบาท และขายครั้งต่อไป 1.28 แสนล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีมูลค่าเสนอขายรวม 3.03 แสนล้านบาท เป็น IPO 1.37 แสนล้านบาท และขายครั้งต่อไป 1.65 แสนล้านบาท จำนวนผู้ได้รับอนุญาตออกขาย IPO มีจำนวน 47 ราย เพิ่มเล็กน้อยจากปี 64 อนุญาตจำนวน 40 ราย

ส่วนมูลค่าการเสนอขายตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2.57 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ตราสารหนี้ระยะสั้น 1.06 ล้านล้านบาท ตราสารหนี้ระยะยาว 1.40 ล้านล้านบาท เสนอขายต่างประเทศ 1.01 แสนล้านบาท ตามลำดับ เพิ่มจากปี 64 มีมูลค่าเสนอขายรวม 2.27 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ตราสารหนี้ระยะสั้น 9.58 แสนล้านบาท ตราสารหนี้ระยะยาว 1.15 ล้านล้านบาท เสนอขายต่างประเทศ 1.60 แสนล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับมูลค่าการออกตราสารหนี้กลุ่มยั่งยืนมีมูลค่า 2.22 แสนล้านบาท เพิ่มจาก 1.75 แสนล้านบาทในปี 64  การออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) มีจำนวน 5,694 รุ่น (ปี 64 มี 5,237 รุ่น)

ภาพรวมธุรกิจจัดการลงทุน มีกองทุนรวมจำนวน 1,903 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 4.16 ล้านล้านบาท เทียบปี 64 มีกองทุนรวมจำนวน 1,745 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 4.65 ล้านล้านบาท

การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ มีมูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อรวม 4.22 แสนล้านบาท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 3.47 แสนล้านบาท จำนวนบริษัทที่ถูกเสนอซื้อ 18 บริษัท เทียบกับปี 64 มีมูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 8.74 แสนล้านบาท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 8.83 หมื่นล้านบาท จำนวนบริษัทที่ถูกเสนอซื้อ 15 บริษัท

โดยแบ่งเป็น การทำคำเสนอซื้อเพื่อครอบงำกิจการ มูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 4.51 หมื่นล้านบาท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 3.82 พันล้านบาท จำนวนบริษัทที่ถูกเสนอซื้อ 12 บริษัท ลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีมูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 8.57 แสนล้านบาท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 7.13 หมื่นล้านบาท จำนวนบริษัทที่ถูกเสนอซื้อ 13 บริษัท

การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 3.77 แสนล้านบาท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 3.43 แสนล้านบาท จำนวนบริษัทที่ถูกเสนอซื้อ 6 บริษัท เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 64 ที่มีมูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อ 1.71 หมื่นล้านบาท มูลค่าหุ้นที่เกิดรายการซื้อขายจริง 1.70 หมื่นล้านบาท จำนวนบริษัทที่ถูกเสนอซื้อ 2 บริษัท

ภาพรวมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล มีจำนวนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) 9 ราย, นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) 9 ราย, ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) 2 ราย, ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Advisory Service) 2 ราย, ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Fund Manager) 4 ราย, ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) 7 ราย และยังไม่มีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Custodial Wallet Provider)

การเสนอขายโทเคนดิจิทัล ประเภทการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (ICO) ปี 64 มีโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน 1 บริษัท ปี 65 มีโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนและเพื่อการใช้ประโยชน์แบบไม่พร้อมใช้ 1 บริษัท มูลค่าการเสนอขายโทเคนดิจิทัลแบบเสนอขายประชาชนครั้งแรกในประเทศ ปี 64 มูลค่า 2,400 ล้านบาท ปี 65 มูลค่า 265 ล้านบาท

ภาพรวมการระดมทุนด้วยวิธีคราวด์ฟันดิง มีผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง (Funding Portal) 8 บริษัท มีการระดมทุนด้วยหุ้นคราวด์ฟันดิง 4 บริษัท มูลค่า 52.70 ล้านบาท เทียบปี 64 มีจำนวน 6 บริษัท มูลค่า 68.10 ล้านบาท, ออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง 327 บริษัท มูลค่า 4,274.30 ล้านบาท เทียบกับปี 64 มีจำนวน 134 บริษัท มูลค่า 1,322.90 ล้านบาท

การรับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 1,249 เรื่อง ดังนี้  การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 326 เรื่อง, การได้รับการชักชวนให้ลงทุนโดยอ้างผลตอบแทนในอัตราที่สูง 175 เรื่อง, การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร/กรรมการบริษัทจดทะเบียน 70 เรื่อง, ระบบงานของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 43 เรื่อง, ระบบงานของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 42 เรื่อง และเรื่องอื่น ๆ 593 เรื่อง

การรายงานข้อมูลรายชื่อบุคคลหรือนิติบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. (Investor Alert) เพื่อเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการลงทุน รวมทั้งหมด 314 ราย แบ่งเป็น รายชื่อบุคคลหรือนิติบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้า 268 ราย, ยังไม่ได้รับใบอนุญาตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 44 ราย, ยังไม่ได้รับใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และยังไม่ได้รับใบอนุญาตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 1 ราย, ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน และยังไม่ได้รับใบอนุญาตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 1 ราย สามารถตรวจสอบข้อมูล Investor Alert ได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.

 

#ก.ล.ต.