HoonSmart.com>>ครม.ไฟเขียวเปลี่ยนรถเมล์ร่วมบริการทั่วกรุงเทพฯ เป็นรถเมล์ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คาดช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อคันต่อปี หรือ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี 2564 – 2573 เปิดทางอนุญาตให้”พลังงานบริสุทธิ์” บริษัท บริหารโครงการ คาร์บอน ใช้คาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ให้กับสมาพันธรัฐสวิส เริ่ม 6 ต.ค.65-31ธ.ค.ค73 ด้าน EA ยอมรับสนใจลงทุนเหมืองโปแตซมานาน เพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 31 ม.ค.2566 มีมติเห็นชอบหนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ)ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ โดยถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ให้กับสมาพันธรัฐสวิส และมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ลงนามในหนังสือการอนุญาตให้ดำเนินโครงการฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่องที่ทส.รายงานว่า การดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงฯ จะส่งเสริมให้ประเทศไทยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานเพื่อนำมาต่อยอดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุ NDC ของไทย อีกทั้งเปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศเกิดความตื่นตัวและให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ และสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
นอกจากนี้บริษัท South Pole ได้รับเงินสนับสนุนจากสมาพันธรัฐสวิสให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านการใช้รถโดยสารประจ าทางสาธารณะเป็นรถโดยสารประจำทางสาธารณะไฟฟ้าสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและผลประโยชน์ร่วมต่าง ๆ เช่น การลดฝุ่น PM 2.5 โดยได้ร่วมกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) พัฒนารายละเอียดการดำเนินงาน (Mitigation Activity Design Document: MADD) โครงการฯซึ่ง สผ. ส านักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กรมการขนส่งทางบก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ และบริษัท South Pole มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณารายละเอียดการดำเนินงานโครงการฯ รวม 2 ครั้ง และเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องตามแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย
ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าครอบคลุมเส้นทางเดินรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีความทันสมัยปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่ำการลดฝุ่น PM 2.5 เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชนซึ่งช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ต่อคันต่อปี หรือ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ค.ศ. 2021 – 2030)และสามารถยื่นขอการรับรองภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการ T-VER สามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรื่อนกระจกระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes: ITMOs) หลังจากได้รับการรับรองว่าสอดคล้องกับข้อตกลงฯ และข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส
“บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จะถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส โดย ทส. ยืนยันว่า คาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย NCD”
โครงการนี้เกิดขึ้นจาก คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 มีมติเห็นชอบให้ ทส. โดย สผ. นำรายละเอียดการดำเนินงานโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบการอนุญาตถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ให้กับสมาพันธรัฐสวิสต่อไป และมอบหมายให้เลขาธิการ สผ. ลงนามในหนังสือการอนุญาตให้ดำเนินโครงการฯ ซึ่งหนังสือการอนุญาตมีสาระสำคัญ ดังนี้
บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ และบริษัท บริหารโครงการ คาร์บอน ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ ได้รับอนุญาตให้ยื่นคำขอถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในระดับระหว่างประเทศโดยเป็นไปตามหนังสือการให้อนุญาตฉบับนี้ กำหนดระยะเวลาคิดเครดิตที่ได้รับอนุญาตวันที่ 6 ตุลาคม 2565 (ค.ศ. 2022) – 31 ธันวาคม 2573 (ค.ศ. 2030) เพื่อการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับอนุญาตใช้สำหรับ NDC ของสมาพันธสวิส มีปริมาณรวมสูงสุดทั้งสิ้น 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าของผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ผลการลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวต้องได้รับการรับรองและติดตาม โดยระบบทะเบียนที่กำหนดของประเทศไทยซึ่งบริหารจัดการโดย อบก.
ส่วนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องผลใช้บังคับของการให้อนุญาตนี้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการรับรองหน่วยผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในระบบทะเบียนที่กำหนดของประเทศไทย การดำเนินงานกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกต้องสอดคล้องกับแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยที่เห็นชอบ โดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ข้อกำหนดภายใต้ข้อตกลงการดำเนินงานและมาตรฐานกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องของ อบก. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกเข้าใจว่ารัฐบาลไทยไม่มีความรับผิดชอบต่อการบรรลุเป้าหมายปริมาณที่กำหนดไว้ของการส่งมอบผลการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ระบุไว้
วิธีการปรับบัญชี ประเทศไทยสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปรับบัญชีซึ่งจะปรับใช้โดยสอดคล้องกันตลอดระยะเวลา NDC โดยพิจารณาถึงแนวปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับบัญชี การกำหนดการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกจากระบบทะเบียนที่กำหนดของประเทศไทยไปยังระบบทะเบียนที่กำหนดของสมาพันธรัฐสวิสโดยใช้วิธีการ “ยกเลิกและสร้างขึ้นใหม่” กรมสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม การขนส่ง พลังงาน และการสื่อสาร สมาพันธรัฐสวิส ส่งหนังสือยืนยันรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ให้บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ และสำเนาหนังสือถึงสผ. พร้อมแจ้งว่า สมาพันธรัฐสวิส สามารถออกหนังสืออนุญาตให้ดำเนินโครงการฯ เมื่อฝ่ายไทยได้ออกหนังสือการอนุญาตด้วยแล้ว ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายมีหนังสือแจ้งไม่ขัดข้องต่อ (ร่าง) หนังสือการอนุญาต
ทั้งนี้ มติครม.ในวันนี้ ส่งผลดีต่อธุรกิจของ BYD ที่ได้รับสัมปทานวิ่งรถเมล์ไปในกรุงเทพฯและปริมณ ทำให้ราคาหุ้นกระโดดขึ้นไปสูงสุดที่ 12.20 บาทก่อนปิดที่ 11.90 บาท และยังส่งผลต่อ EA ด้วย
ด้านนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) แจ้งตลาดหลักทรัพย์กรณีที่มีข่าวว่า บริษัทฯจะเข้าไปถือหุ้น 25% ในบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมินั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการลงทุน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการพิจารณาเรื่องการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และทิศทางการดําเนินธุรกิจ
ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่าทำไม EA ถึงสนใจลงทุนในบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และปัญหาด้านวัตถุดิบที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือกโดยใช้วัตถุดิบชนิดอื่น
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลหะลิเทียม และมีศักยภาพนำมาผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCI) และโซเดียวคลอดไรด์ (NaCI) สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำขั้วไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์
ปัจจุบันบริษัทในต่างประเทศเริ่มมีการผลิตเซลล์ต้นแบบ ทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีศักยภาพ นับเป็นแบตเตอรี่ทางเลือกที่มีราคาถูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชและเกลือหินอยู่จำเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน