ก.ล.ต.คุมเข้ม utility token ไตรมาส 2 ยกเว้น NFT-คาร์บอนเครดิต

HoonSmart.com>>ก.ล.ต.เล็งประกาศใช้เกณฑ์กำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ในไตรมาส 2/66 ไม่นับรวม utility token ที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค อาทิ เวาเชอร์(Voucher), NFTงานศิลปะ รูปภาพ, และคาร์บอนเครดิต  ฯลฯ ซึ่งห้ามเข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วน utility token ที่เข้าเกณฑ์กำกับดูแลให้เวลาปรับตัว 60 วันหลังประกาศใช้ เผยผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัลให้ความสนใจแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เตรียมจัด Focus Group 30 ม.ค.นี้

นางสาวนภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายนวัตกรรมทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ (utility token พร้อมใช้) ในตลาดแรกและตลาดรอง จะทำให้มีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เหมาะสม และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และเศรษฐกิจดิจิทัล ร่างดังกล่าวผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการก.ล.ต.แล้วอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในไตรมาส 2 ปีนี้

การจัดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมากราว 70-80 รายในการจัดครั้งก่อนหน้านี้ และในวันที่ 30 ม.ค.จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (Focus Group) เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ในช่วงที่ผ่านมามีผู้สนใจออกและเสนอขายโทเคนประเภท investment token จำนวนประมาณ 15-20 ราย ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการโครงสร้างพื้นฐาน และอื่นๆ ส่วนการออก utility token ก็มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาปรึกษาก.ล.ต.เช่นกัน

ทางก.ล.ต.ได้จัดประเภท utility token พร้อมใช้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย
(1) “utility token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค” เช่น บัตรกำนัลดิจิทัลที่ออกในรูปของโทเคน(Voucher), โทเคนที่ให้สิทธิในการแลกบัตรคอนเสิร์ต และงานศิลปะ รูปภาพ เพลง แสตมป์หรือวีดีโอในรูปแบบ non-fungible token (NFT) ซึ่งมีการให้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ถือ NFT
(2) “utility token พร้อมใช้ ที่ใช้แทนใบรับรอง (certificate) หรือแสดงสิทธิต่าง ๆ” เช่น ใบรับรองพลังงานทดแทน(Carbon Credit), ใบกำกับภาษี และโฉนดที่ดิน

สำหรับ utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 จะได้รับยกเว้นการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน และยกเว้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยโทเคนดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด และผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (issuer) จะต้องไม่เปิดให้มีการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทน (staking) เว้นแต่เป็นการ staking เพื่อการลงคะแนนเสียง (voting) หรือเข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน ecosystem

นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำ utility token กลุ่มที่ 1 มาจดทะเบียนซื้อขาย และห้ามนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการเกี่ยวกับ utility token ดังกล่าว  สำหรับ utility token กลุ่มที่ 1 ในปัจจุบันมีจำนวน 12 ราย ที่จดทะเบียนในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงให้อยู่ได้ตามเดิมไม่ต้องถอนออกจากศูนย์ซื้อขายฯ

utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย utility token พร้อมใช้ ประเภทอื่นนอกจากกลุ่มที่ 1 เช่น
(1) utility token ที่ให้สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการบน Distributed Ledger Technology (DLT) รวมทั้ง Decentralized Finance (DeFi)
(2) utility token พร้อมใช้ ประจำศูนย์ซื้อขายฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้งานบนศูนย์ซื้อขายฯ ในการชำระค่าธรรมเนียมเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม ใช้สะสมเพื่อเลื่อนระดับสมาชิกโดยในแต่ละระดับจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน (exchange token)
(3) utility token พร้อมใช้ ที่ให้สิทธิออกเสียงเพื่อปรับเปลี่ยนหรือตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการทางธุรกิจ (governance token)
(4) utility token พร้อมใช้ ประจำโครงการที่ให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะ Centralized Finance (CeFi) เป็นต้น

สำหรับ utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ประสงค์จะนำไปจดทะเบียนบนศูนย์ซื้อขายฯ ต้องได้รับอนุญาตการเสนอขายจาก ก.ล.ต. โดยผู้เสนอขายต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) และหนังสือชี้ชวน รวมทั้งเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ทั้งนี้ โทเคนดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด

ผู้ออกเสนอขายจะต้องไม่รับ staking เว้นแต่เป็นการ staking ในลักษณะที่กำหนด ได้แก่ การใช้เป็นกลไกยืนยันธุรกรรม หรือเพื่อการลงคะแนนเสียง หรือเข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน ecosystem

ปัจจุบันมี  utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 อยู่จำนวนหนึ่ง ที่ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำกับดูแลภายใน 60 วันหลังประกาศมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต.ยังมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายฯ เพื่อให้มีความเหมาะสม เช่น หลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (listing rule) และหลักเกณฑ์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rule) และหลักเกณฑ์การติดตามและตรวจสอบสภาพการซื้อขาย (market surveillance) ด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ทั้งในส่วนของตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อวางแนวทางกำกับดูแลให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง พัฒนาการและการใช้งาน และมีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เพียงพอเหมาะสม โดย ก.ล.ต. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (focus group) และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไปในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2565 และได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะมาพิจารณาประกอบกับแนวทางการกำกับดูแลในต่างประเทศ เพื่อทบทวนหลักการปรับปรุงแนวทางกำกับดูแลดังกล่าว โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ ที่มีการปรับปรุงแล้ว  ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https: //www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=867 และระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: thanapatk@sec.or.th thapanee@sec.or.th หรือ ponwat@sec.or.th จนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566

#utility token #ก.ล.ต. #NFT #คาร์บอนเครดิต