ดาวโจนส์ปิดร่วง 764 จุด วิตกเศรษฐกิจถดถอย

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดดิ่ง ดัชนีดาวโจนส์ร่วง 764 จุด กว่า 2.25% S&P500 -2.49% Nasdaq -3.23% หลังข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนพ.ย.ลดลงมากกว่าคาด นักลงทุนวิตกการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ฉุดเศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันดิบลดลง ฟาก “ตลาดห้นยุโรป” ปิดลบ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษขึ้นดอกเบี้ยตามคาด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ปิดที่ 33,202.22 จุด ร่วงลง 764.13 จุด หรือ -2.25% เป็นการลดแลงแรงสุดภายในหนึ่งวันในรอบ 3 เดือน หลังข้อมูลยอดค้าปลีกเดือนพฤศจิกายนลดลงมากกว่าคาด ทำให้วิตกมากขึ้นว่าการขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่ผ่อนปรนของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะฉุดเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะถดถอย

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,895.75 จุด ลดลง 99.57 จุด, -2.49%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,810.53 จุด ลดลง 360.36 จุด, -3.23%

แรงขายมีขึ้นในวงกว้างและมีหุ้นเพียง 14 ตัวในดัชนี S&P 500 ที่ซื้อขายในแดนบวก ขณะที่หุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่ลดลง โดยหุ้นแอปเปิล หุ้นอัลฟาเบทต่างลดลงกว่า 4% หุ้นไมโครซอฟต์ หุ้นแอมะซอนต่างลดลงกว่า 3% หุ้นเน็ตฟลิกซ์ลดลง 8.6% หลังมีรายงานว่าบริษัทจะคืนเงินให้กับผู้ลงโฆษณาเพราะยอดวิวไม่ได้ตามเป้า

กระทรวงพาณิชย์รายงาน ยอดค้าปลีกเดือนพฤศจิกายนลดลง 0.6% เป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 11 เดือน มากกว่า 0.3% ที่ Dow Jones คาด สร้างความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ

ไมค์ โลเวนการ์ต จากมอร์แกนสแตนเลย์กล่าวว่า การใช้จ่ายในวัน Black Friday และวันหยุดไม่มากพอที่จะหนุนยอดค้าปลีกในเดือนที่แล้ว ในปีนี้จึงลดลงมากที่สุดและต่ำกว่าที่คาดไว้ ผู้บริโภคยังมีความสามารถรับมือได้ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ร้อนแรงและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่ราคาที่สูงและการพูดถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจทำให้บางคนคาดเดาได้ว่า ตอนนี้มีผลมาถึงเงินในกระเป๋าแล้ว นอกจากนี้เป็นสัปดาห์ที่วุ่นวายสำหรับนักลงทุน ทั้งเฟดและ ECB ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นตลาดปั่นป่วน

ควินซี ครอสบี้ จาก LPL Financial ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตลาดมองไปที่เศรษฐกิจถดถอย และไม่เห็นด้วยกับถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ประธานเฟดที่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว( soft landing) และตลาดมองว่าการชะลอตัวไม่ใช่ภาวะชั่วคราว ซึ่งจะกดดันให้เฟดดำเนินการก่อนปี 2024

แรงขายมีอย่างต่อเนื่องจากวันพุธ หลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ประกอบกับนักลงทุนวิเคราะห์การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอีกหลายประเทศ โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ต่างขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ อีกทั้งการส่งสัญญานการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารสองแห่งนี้กลบมุมมองทางบวกที่ว่าเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดแล้ว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีลดลงมาที่ระดับต่ำกว่า 3.5% ราคาน้ำมัน WTI ลดลงมาที่ 76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลล์

แม้ข้อมูลค้าปลีกบ่งชี้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ข้อมูลตลาดแรงงานกลับสะท้อนภาวะตึงตัวโดยกระทรวงแรงงานรายงาน จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลง 20,000 ราย สู่ระดับ 211,000 ราย ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน และต่ำกว่า230,000 รายที่นักวิเคราะห์คาด

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปิดลบ โดยกลุ่มเทคโนโลยีที่ลดลง 4.6% กลุ่มค้าปลีกลดลง 4% กลุ่มเดินทางและสันทนาการลดลง 3.5% หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน และส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัยะต่อไป

นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวให้ความเห็นในทิศทางเดียวกับนายเจอโรม พาวเวลล์ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า ใครก็ตามที่คิดว่า ECB จะชะลอขึ้นดอกเบี้ยนั้นคิดผิด เพราะ ECB ประเมินว่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ต่อเนื่องในระยะต่อไป และยังต้องทำอีกเป็นระยะเวลานาน เกมนี้เป็นเกมยาว”

ECB ปรับประมาณการเงินเฟ้อขึ้นจากเดิม และเงินเฟ้อจะยังไม่กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2% จนกว่าปี 2025 และมองว่าภาวะถดถอยของภูมิภาคจะเป็นระยะสั้นและไม่ลงลึก

ด้านธนาคารกลางอังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ส่วนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ก็ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เช่นเดียวกัน เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 429.91 จุด ลดลง 12.60 จุด, -2.85%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,426.17 จุด ลดลง 69.76 จุด, -0.93%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,522.77 จุด ลดลง 208.02 จุด, -3.09%,

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,986.23 จุด ลดลง 473.97 จุด, -3.28%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมกราคม ลดลง 1.17 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 76.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 1.49 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 81.21ดอลลาร์ต่อบาร์เรล