ขาใหญ่ 1.1 แสนราย วอลุ่ม 95% อ่วม 1 ม.ค.67 แบกภาษีหุ้น 0.11%

HoonSmart.com>>คลังเผยเก็บภาษีขายหุ้นครึ่งราคา (0.055%) ถึงสิ้นปี 66 หลังจาก 1 ม.ค.67 เก็บ 0.11% ส่งผลต้นทุนเทรดหุ้นเฉลี่ย(ซื้อและขาย) เพิ่มจาก 0.17% เป็น 0.22% กระทบนักเทรดหุ้น 11% (1.1 แสนบัญชี) จาก 1 ล้านบัญชีที่แอคทีฟ เทรดหุ้นรวมกัน 95% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งตลาด ชี้ต้นทุนของไทยยังถูกกว่ามาเลเซีย และฮ่องกง และใกล้เคียงสิงคโปร์ ยกเว้นภาษีให้มาร์เก็ตเมกเกอร์ และกองทุนที่ออมเพื่อการเกษียณอายุ รวม 8 รายการ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ(Financial Transaction Tax หรือ FTT) เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกา(พรก.)ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (Grace Period ประมาณ 90 วัน) ขณะนี้ พรก.ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า อัตราการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.05% ( 0.055% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ พรก.มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.66 ช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.10% ( 0.11% เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวจะจัดเก็บจากการขายหลักทรัพย์ โดยให้โบรกเกอร์หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายหุ้นไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก

อย่างไรก็ตาม มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ 8 รายการ ประกอบด้วย
1.ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
2.สำนักงานประกันสังคม
3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
4.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
5.กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
6.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
7.กองทุนการออมแห่งชาติ
8.กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตามข้อ 3-7 เท่านั้น

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากการเก็บภาษีครั้งนี้ นายลวรณกล่าวว่า ปัจจุบันมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์รวม 5 ล้านบัญชี และมีบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว (Active) ประมาณ 1 ล้านบัญชี ประมาณ 11% (1.1 แสนบัญชี) จาก 1 ล้านบัญชีนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวมกันถึง 95% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด ส่วนอีก 89% ของ 1 ล้านบัญชีนี้มีมูลค่าการซื้อขายรวมกันคิดเป็น 5%

ผลกระทบต่อต้นทุนการซื้อขายหลักทรัพย์ ภายหลังเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะตามอัตราปกติ (0.11%) จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นจาก 0.17%ในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 0.22% (กรณีซื้อหลักทรัพย์มีต้นทุน 0.17% กรณีขายหลักทรัพย์มีต้นทุนเพิ่มเป็น 0.27% ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยกรณีที่ซื้อและขายหลักทรัพย์อยู่ที่ 0.22% ) ส่วนในปีแรกจะจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.055% ถึง 31 ธ.ค.66 จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มจาก 0.17% เป็น 0.195%

นายลวรณกล่าวว่า ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยต่ำกว่ามาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 0.29% (มาเลเซียเก็บภาษีจากการขายและการซื้อ ในอัตรา 0.10% และเพิ่งปรับขึ้นเป็น 0.15% แต่ไม่เกิน 1,000 ริงกิต เมื่อต้นปี 65) และฮ่องกงอยู่ที่ 0.38% (ฮ่องกงเก็บกาษีจากการขายและการซื้อในอัตรา 0.10% และเพิ่งปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.13% เมื่อ ส.ค.64) ขณะที่ของไทยสูงกว่าสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย (สิงคโปร์ไม่เก็บภาษี)

นายอาคมกล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องภาษีการค้ามาตั้งแต่ปี 2521 และมีการยกเว้นภาษีการค้าในปี 2525 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนไทย ต่อมาในปี 2535 เปลี่ยนจากภาษีการค้าเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ก็ยกเว้นการจัดเก็บตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หากนับย้อนไปถึงช่วงที่เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะก็ถือว่ายกเว้นมาแล้ว 30 ปี หากนับย้อนไปถึงตอนที่เป็นภาษีการค้าก็ถือว่าได้ยกเว้นมาถึง 40 ปีแล้ว

ปัจจุบันมีความเหมาะสมที่จะจัดเก็บเพราะตลาดทุนมีความแข็งแกร่งขึ้น และเป็นการปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีให้เป็นสากล ในต่างประเทศแต่ละประเทศมีการจัดเก็บภาษีแตกต่างกันไป บางประเทศเก็บเฉพาะภาษีธุรกิจเฉพาะ บางประเทศเก็บเฉพาะการขาย บางประเทศเก็บทั้งการซื้อและการขาย บางประเทศเก็บภาษีกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขาย(Capital Gain Tax)

นายลวรณกล่าวว่า ในอดีตมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุน ในขณะนั้นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) 9 แสนล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 20 ล้านล้านบาท มีความมั่นใจว่าตลาดทุนมีความเข้มแข็ง เหมาะที่จะจัดเก็บภาษีให้เป็นสากล ส่วนสาเหตุที่เสนอให้จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะแทนที่จะเก็บภาษีกำไรส่วนต่างจากราคาหุ้น  เนื่องจากคำนึงถึงต้นทุนในการจัดเก็บ เพราะการคำนวณกำไรจากราคาหุ้นมีความซับซ้อน มีการซื้อขายหลายครั้งหลายรอบยากแก่การคำนวณ จึงเลือกจัดเก็บในลักษณะภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งมีความเหมาะสมกว่า

ทั้งนี้ ประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว คำนวณได้จากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หักมูลค่าการซื้อขายของผู้ที่ได้รับการยกเว้น 8 รายการที่มีมูลค่าการซื้อขายรวมกันประมาณ 15% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด

#Financial Transaction Tax #FTT #ภาษีขายหุ้น