HoonSmart.com>> ก.ล.ต. สั่ง MORE รายงานข้อมูลในวันที่ 30 พ.ย. กรณีคำชี้แจง “คณะกรรมการบริษัท” แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยในหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและรายงานความเห็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ กรณีงบต้นทุนโครงการ Rolling Loud พุ่ง 36% เงื่อนไขร่วมทุนกรณีผู้ร่วมทุนถอนตัว แฉส่งข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นไม่ครบถ้วน ส่ออาจนำไปสู่การระงับการเสนอขายหุ้นพีพีให้ “อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ”
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งให้บริษัท มอร์ รีเทิร์น (MORE) รายงานข้อมูลกรณีคำชี้แจงของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยในหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 และรายงานความเห็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เช่น ต้นทุนโครงการจัดแสดงคอนเสิร์ต Rolling Loud ที่เพิ่มขึ้น ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขการร่วมทุน และความเสี่ยงที่อาจถูกฟ้องร้องจากการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นต้น
คณะกรรมการ MORE มีหนังสือชี้แจงข้อมูล เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความผิดปกติของราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมของ IFA อย่างไรก็ดี พบว่าคำชี้แจงของคณะกรรมการมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากข้อมูลที่เปิดเผยในหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 และรายงานความเห็นของ IFA เช่น งบประมาณต้นทุนโครงการ Rolling Loud ทั้งหมดโดยประมาณ มีจำนวน 899 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 36% จากประมาณการต้นทุนที่เปิดเผยไว้ในหนังสือนัดประชุม
รวมทั้งหนังสือนัดประชุมอาจยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขการร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนในกรณีผู้ร่วมทุนถอนตัว ซึ่ง MORE มีภาระต้องคืนเงินมัดจำและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว และมีความเสี่ยงที่อาจถูก Rolling Loud USA ฟ้องร้องจากการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นต้น
ก.ล.ต. เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวถือเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นและอาจกระทบต่อการให้ความเห็นของ IFA ต่อการทำธุรกรรมดังกล่าว ซึ่ง MORE ยังไม่ได้เปิดเผยในหนังสือนัดประชุมให้ถูกต้องครบถ้วน อันอาจทำให้ผู้ถือหุ้นยังไม่ได้รับข้อมูลที่มีนัยสำคัญอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจออกเสียงในวาระที่เกี่ยวข้อง ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 58 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ให้ MORE รายงานข้อมูลและผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งนำส่งความเห็นของ IFA ต่อข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ 25 พ.ย. 2565 พร้อมให้เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ หนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ MORE ที่นำส่งต่อผู้ถือหุ้นไปแล้ว โดยยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญให้ถูกต้องครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจออกเสียงในวาระที่ขอมติออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ เข้าลักษณะของเหตุตามข้อ 5(5) ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 72/2558 เรื่อง การอนุญาตให้บริษัทจดทะเบียนเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ซึ่งอาจนำไปสู่การระงับการเสนอขายหุ้น หรือสั่งยกเลิกการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นได้ MORE จึงควรดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นได้รับข้อมูลที่มีนัยสำคัญดังกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วันก่อนวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดเพื่อให้ผู้ถือหุ้นของ MORE มีระยะเวลาที่เพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจ
ด้านการซื้อขายหุ้น MORE วันที่ 28 พ.ย. ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุน ระหว่างวันขึ้นไปสูงสุดแตะ 0.59 บาท ก่อนร่วงลงไปต่ำสุดที่ 0.47 บาท และปิดที่ระดับ 0.54 บาท -0.04 (-6.90%) มูลค่าซื้อขายรวม 430.55 ล้านบาท รวมถึงหุ้นที่โยงใย MORE ต่างปรับตัวลง อาทิ TH ปิดที่ 2.54 บาทร่วงลง -0.14 บาทหรือ 5.22% มูลค่าซื้อขาย135 ล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีแกว่งลงต่ำสุดแตะ 1,612.56 จุด ก่อนปิดที่ระดับ 1,616.91 -3.93 -0.24% ด้วยมูลค่าซื้อขายเพียง 38,679.18 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อเพียง 666 ล้านบาท
บล.กสิกรไทย ระบุว่า มูลค่าการซื้อขายเพียง 38,679 ล้านบาท จัดว่าต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี นับจากจุดต่ำสุดเมื่อ 30 ธ.ค.2562 ที่มีวอลุ่มเทรดต่ำสุดแถว 29,000 ล้านบาท
นายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ช่วงนี้วอลุ่มเทรดของตลาดบางลงมาก คาดว่าจะเป็นผลจากนักลงทุนระวังการลงทุนหุ้นที่เทรด P/E เกิน 50 เท่า เพราะวิตกจะเข้าสู่การใช้เกณฑ์ Cash Balance และส่วนหนึ่งยังมาจากโบรกเกอร์เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการเทรดหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิ้น รวมไปถึงหุ้นขนาดใหญ่ก็ไม่มีปัจจัยหนุน
ภาวะตลาดแกว่งแคบ อิงลบ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างติดลบกันหมด จากความกังวลการประท้วงในจีน ที่ไม่พอใจการล็อกดาวน์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และกระทบเศรษฐกิจ อีกทั้งราคาน้ำมันน้ำมันปรับตัวลงกดดันหุ้นในกลุ่มพลังงาน และโรงกลั่นทำให้เกิดแรงขายออกมา
นอกจากนี้ หุ้นปตท.(PTT) ก็เผชิญแรงขายหลังจากที่รัฐต้องการให้เข้าไปอุ้มค่าไฟที่ผู้ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งจะกดดันกำไรของ PTT ขณะที่มีแรงซื้อหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า คาดหวังการปรับขึ้นค่าไฟ (Ft)
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นในวันที่ 29 พ.ย.2565 ตลาดคงจะแกว่งแคบ โดยมีแนวรับ 1,610 จุด แนวต้าน 1,625 จุด
สำหรับผลการดำเนินงานของหุ้นขนาดเล็ก โดยเฉพาะบจ.ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) งวดไตรมาส 3/565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดขายรวม 52,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.8% กำไรจากการดำเนินงาน 2,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.4% ขณะที่กำไรสุทธิรวม 2,183 ล้านบาท ลดลง 18.6%
ส่วนยอดรวม 9 เดือน ยอดขายรวม 153,582 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.8% ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานรวม 8,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.0% และมีกำไรสุทธิรวม 6,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% โดย 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดขาย กำไรจากการดำเนินงาน และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มบริการ และกลุ่มเทคโนโลยี
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บจ. mai จำนวน 185 บริษัท คิดเป็น 96% จากทั้งหมด 192 บริษัท รายงานกำไรสุทธิจำนวน 131 บริษัท คิดเป็น 71% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด โดย 9 เดือนปีนี้ บจ. ส่วนใหญ่มียอดขายเติบโต สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว หลังจากผ่านช่วงการระบาดของโควิด-19 และการเริ่มกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
“เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมียอดขายเพิ่มขึ้น ยกเว้น กลุ่มธุรกิจการเงิน แต่ บจ. ส่วนใหญ่มีต้นทุนสูงขึ้น จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้อัตราการทำกำไรลดลง และโดยรวมยังสามารถควบคุมสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายได้ดี ทำให้กำไรจากการดำเนินงานยังคงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เริ่มเห็นการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจจัดงานอิเวนต์ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจส่งออกที่ได้รับผลบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว”
ด้านฐานะทางการเงิน บจ. mai มีสินทรัพย์รวม 309,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากสิ้นปี 2564 และโครงสร้างเงินทุนรวมแข็งแรงขึ้น โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) อยู่ที่ 0.89 เท่า ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่เท่ากับ 1.03 เท่า
ปัจจุบันมี บจ. ใน mai 193 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ย. 2565) ดัชนี mai ปิดที่ระดับ 580.47 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 518,418 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 5,853 ล้านบาทต่อวัน