KJL แจกกำไรวันแรก 32% UBA เคาะราคาขาย 1.70 บาท

HoonSmart.com>>”กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค” เข้าเทรด mai วันแรก ประสบความสำเร็จล้นหลาม ราคาวิ่งขึ้นไปสูงสุดแตะ 19.1 บาทก่อนปิดที่ 17.80 บาท ให้ผลตอบแทนถึง 31.85% มูลค่าซื้อขายหนาแน่นกว่า 3,722 ล้านบาท เป็นหุ้นเติบโตสูง จากรายได้มั่นคง 90% และ New S-Curve มาร์จิ้นสูง ปีหน้าขยายกำลังการผลิต ต่อยอดธุรกิจลูกค้าไทย-ตปท. บล.หยวนต้าประเมินมูลค่าพื้นฐานในปี 66 ที่ 17.30 บาท บล.ทิสโก้ตีมูลค่า 20 บาท ด้านบริษัท ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์ (UBA) ตั้งราคาขาย 1.70 บาท/หุ้น  เปิดจองซื้อ 28 – 30 พ.ย.65 ฤกษ์ดีเข้าซื้อขาย mai  7 ธ.ค. นี้

หุ้นบริษัทกิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค (KJL) สดใส เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) วันที่ 22 พ.ย. เปิดที่ราคา 17.20 บาท และยืนแข็งแกร่ง ขึ้นไปสูงสุดแตะ 19.10 บาท  ปิดเทรดที่ 17.80 บาท เพิ่มขึ้น 4.30 บาท หรือ +31.85% จากราคาขาย IPO ที่ 13.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 3,722.95 ล้านบาท สวนทางตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวลง

นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค เปิดเผยว่า หุ้น KJL ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่เชื่อมั่นต่อปัจจัยพื้นฐานธุรกิจที่มีประสบการณ์มาเกือบ 30 ปี มีผลดำเนินงานโดดเด่น มั่นคง และมั่นใจในกลยุทธ์สร้างโอกาสการเติบโต พร้อมมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุน

บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและจำหน่ายตู้ไฟสวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ อุปกรณ์ที่ใช้เดินสายไฟ รวมถึงสินค้าสั่งผลิต (Made to Order) งานระบบไฟฟ้าและงานโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษในรูปแบบที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ แบบครบวงจร โดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่น โดยจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก(IPO) ไปสร้างโรงงานใหม่ คาดแล้วเสร็จในปี 2566 จะมุ่งเน้นการขยายกำลังการผลิต การใช้ระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน รวมถึงการขับเคลื่อนองค์กรด้วย คาดว่ารายได้จะเติบโต 10-15%ในอนาคต สำหรับปีนี้คาดว่ารายได้เติบโต 10-15%

นอกจากนี้ยังสร้างศูนย์นวัตกรรมแห่งใหม่ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พิเศษที่เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าร่วมกับพาร์ทเนอร์ ผ่านศูนย์นวัตกรรม KJL Innovation Campus พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของ KJL Network ต่อยอดธุรกิจในการสร้างรายได้และทำกำไรให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ  พร้อมร่วมมือและต่อยอดธุรกิจกับลูกค้า OEM ที่เป็นพันธมิตรธุรกิจระดับโลกที่สำคัญหลัก คือ บริษัท Schneider Electric (ชไนเดอร์ อิเลคทริค)  จากฝรั่งเศส  ให้ Certificated Licensed partner เพื่อผลิตและจำหน่ายตู้ไฟแบรนด์ Schneider รุ่น Prisma รวมถึง bticino ของอิตาลี , Amada,Jotun , Friulair , Gema หรือ AkzoNobel   ซึ่งการมีพันธมิตรธุรกิจระดับโลก  เป็นเครื่องการันตีคุณภาพและความน่าเชื่อถือของ KJL ได้เป็นอย่างดี

” KJL เป็นหุ้นผสม มีรายได้ที่เติบโตมั่นคงสัดส่วน 90% จากธุรกิจหลัก ซึ่งบริษัทเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายตู้ไฟสวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ อุปกรณ์ ไม่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเกิดวิฤตการณ์ใด และยังมีความต้องการสูงตามการขยายตัวของอุตสาหกรรม และรถยนต์ EV ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจใหม่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่าหลังการระดมทุน KJL จะมีฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้น สามารถสร้าง New S-Curve ให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดและก้าวสู่ระดับสากล ในฐานะ “ผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคตคุณ” รองรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต” นายเกษมสันต์ กล่าว

ด้าน นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย)  ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของ KJL กล่าวว่า ราคาเปิดเหนือจอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ KJL โดยบริษัทมีแผนนำเงินที่ได้จาการขาย IPO  ประมาณ  384.97 ล้านบาทไปต่อยอดธุรกิจ สร้างความเข้มแข็ง ผลักดันการเติบโตในระยะยาว เชื่อว่า KJL จะเป็นหุ้นที่ผสมระหว่าง Growth Stock และ Dividend Stock ที่พร้อมสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนอย่างเหมาะสม

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำ”ซื้อ”หุ้น KJL คาดกำไรสุทธิในช่วง 3 ปี (ปี 2565–2567) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 14.6% และมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นหลัง IPO  สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงเป็น 1.1 เท่าจากเดิม 2.3 เท่า ประเมินมูลค่าพื้นฐานในปี 2566 ที่ 17.30 บาท อิงวิธี PE ที่ 16.5 เท่า บริษัทมีแผนพัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง โดยมีแผนเพิ่มกําลังการผลิตของสินค้าตู้ไฟสวิทซ์บอร์ด และรางเดิน สายไฟ จากปัจจุบันที่ 20.5 ล้านชิ้นต่อปี รวมถึงขยายฐานลูกค้า เพิ่มจากธุรกิจใหม่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ํา และการเติบโตในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีต่อยอดขายในอนาคต

บล.ทิสโก้ ให้มูลค่าเหมาะสม  KJL ที่ 20 บาท (อิงบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมใกล้เคียงกัน ที่ P/E 18เท่า) โดยมองเห็นการเติบโตจากการเร่งตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนความเสี่ยงที่ต้องระวัง คือความผันผวนของราคาวัตถุดิบหลักอย่างเหล็กแผ่นซึ่งอาจกดดันอัตรากำไร

ด้านบริษัท ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์ (UBA) นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์   ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า บริษัทฯ กำหนดราคาขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ราคา 1.70 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท จำนวน 170 ล้านหุ้น หรือ 28.3% ของทุนจดทะเบียน

เปิดจองซื้อสำหรับประชาชนทั่วไป วันที่  28 – 30 พ.ย. 2565  เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ  (mai) หมวดธุรกิจบริการ วันที่ 7 ธ.ค. นี้

“การขายที่ราคา 1.70 บาท พี/อี 15.7 เท่า  เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน ในฐานะผู้นำจัดการน้ำ เดินระบบ และบำรุงรักษาแบบครบวงจร โดยเป็นหุ้นสาธารณูปโภคที่อยู่ในอุตสาหกรรมเมกะเทรนด์และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน มีงานโครงการที่เป็น Backlog ยังไม่ได้ส่งมอบมูลค่ากว่า 1,422 ล้านบาท รวมถึงการขยายงานในอนาคตจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นลูกค้ารายหลัก   ขณะเดียวกันมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่โดดเด่น อีกทั้งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมมายาวนาน 21 ปี” นายเอกจักร กล่าว

 

UBA เคาะไอพีโอ 1.70 บาท เข้าเทรด 7 ธ.ค.นี้