HoonSmart.com>>บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดหุ้นสัปดาห์หน้ายืนเหนือ 1,600 จุดให้แนวรับที่ 1,620 และ 1,610 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,670 จุด ตามลำดับ ติดตามทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการประชุมเอเปค ด้านค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 35.30-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือน ปิดที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดหุ้นสัปดาห์ถัดไป (14-18 พ.ย.) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,610 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,670 จุด ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการประชุมเอเปค
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ของยูโรโซน จีดีพีไตรมาส 3/65 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก
ในวันศุกร์ (11 พ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,637.29 จุด เพิ่มขึ้น 0.67% จากปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 67,643.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.26% ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.05% มาปิดที่ระดับ 625.51 จุด
ตลาดหุ้นดีดตัวกลับมาปิดบวกได้ช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ SET Index ปรับตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงซื้อต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากตัวเลขเงินเฟ้อไทยที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงในเวลาต่อมา โดยเผชิญแรงขายทำกำไร หลังจากบจ. หลายแห่งรายงานผลประกอบการไตรมาส 3/65 ต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ประกอบกับนักลงทุนบางส่วนยังรอติดตามประเด็นการเมืองและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ หุ้นไทยดีดตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังสหรัฐฯ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ต่ำกว่าตลาดคาด ซึ่งกระตุ้นคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงในการประชุมรอบต่อไป
ส่วนค่าเงินบาท สัปดาห์ถัดไป (14-18 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 35.30-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือน ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ทั้งเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ทั้งนี้เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหลังการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด โดยดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 7.7% YoY (ตลาดคาด 7.9%) ส่วน Core CPI เพิ่ม 6.3% YoY (ตลาดคาด 6.5%) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งสะท้อนว่า เฟดอาจปรับขนาดการขึ้นดอกเบี้ยให้มีความแข็งกร้าวน้อยลงในการประชุม FOMC รอบถัดๆ ไป ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังสอดคล้องกับสถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเข้าซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง (ระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย14,091 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรมากถึง 77,110 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตร 79,556 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 2,446 ล้านบาท)
ในวันศุกร์ที่ 11 พ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 37.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 พ.ย.)