“กรุงไทย” คาดสิ้นสุดมาตรการ LTV กระทบตลาดที่อยู่อาศัยปี 66 อย่างต่ำ 1 หมื่นล.

HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย” ประเมินสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลาย LTV อาจกระทบตลาดที่อยู่อาศัยปี 66 อย่างน้อย 10,500 ล้านบาท คาดกลุ่มบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาท กระทบหนักสุด พร้อมจับตาดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดินพุ่ง ฉุด Net Profit Margin ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยลดลง

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ประเมินเบื้องต้นว่าการไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV มีโอกาสเป็น Downside ให้มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2566 ลดลงอย่างน้อย 10,500 ล้านบาท โดยผู้บริโภคที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากสุดคือ กลุ่มที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาทในสัญญา 2 และ 3 เป็นต้นไป ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลในอดีตพบว่าผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีสัดส่วนราว 14% จากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด

นอกจากการสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลาย LTV ปัจจัยกดดันที่ต้องจับตาในปี 2566 คือ 1) อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะส่งผลลบโดยตรงตลาดที่อยู่อาศัย โดย ทุกๆ การขึ้นดอกเบี้ย 1% จะทำให้มูลค่าที่อยู่อาศัยสูงสุดที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ลดลงไปราว 10% อีกทั้งยังมีแนวโน้มทำให้ Net Profit Margin ของผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยลดลง 0.56% ผ่านการมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และ 2) ต้นทุนการพัฒนาโครงการใหม่ๆ คาดว่าจะยืนสูงต่อเนื่องตามราคาวัสดุก่อสร้างและราคาที่ดิน

Krungthai COMPASS ประเมินมูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีมูลค่า 6.04 แสนล้านบาท ขยายตัว 3.3%YoY และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องที่ 2.5%YoY ในปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย การกลับมาของกำลังซื้อต่างชาติ และมีโอกาสที่ภาครัฐจะขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองไปอีกหนึ่งปี อย่างไรก็ดี ตลาดที่อยู่อาศัยยังมี Downside จาก 1) อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น 2) ต้นทุนพัฒนาโครงการที่ยืนสูง และ 3) การสิ้นสุดลงของมาตรการผ่อนคลาย LTV ในวันที่ 31 ธ.ค. 2565

สำหรับภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2565-66 อยู่ในทิศทางขยายตัวทั้งในฝั่งของความต้องการซื้อจากการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจและการกลับมาของกำลังซื้อต่างชาติ เช่นเดียวกับการเปิดโครงการใหม่ๆ ของผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยที่จะกลับมาอยู่ในระดับปีละ 90,000-100,000 ยูนิต อีกครั้งเพื่อชดเชย
การเปิดโครงการใหม่ในระดับต่าเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา

สำหรับปี 2566 คาดว่าแม้ ธปท. จะตัดสินใจไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV แต่เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และการกลับมาของกำลังซื้อต่างชาติจากสถานการณ์การเดินทางระหว่างประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้นจะทำให้มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังขยายตัวได้ 2.5%YoY คิดเป็นมูลค่า 6.2 แสนล้านบาท

นอกจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่อเนื่องซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคไทยแล้ว การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้นจาก 10.2 ล้านคนในปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 21.4 ล้านคน จะเป็นปัจจัยบวกให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในไทยของชาวต่างชาติเติบโตตาม โดยเฉพาะจากชาวจีนซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของกำลังซื้อต่างชาติทั้งหมดนั้นยังคงให้ความสนใจในภาคอสังหาฯ ไทย สะท้อนจากข้อมูลของ Juwai.com เว็บไซต์ซื้อขายอสังหาฯ ในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของจีน ที่ชี้ว่าอสังหาฯ ไทยยังได้รับการค้นหาอยู่ใน 3-4 อันดับแรกอย่างต่อเนื่องในช่วง 1H/65 ทั้งนี้ Segment ที่จะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อต่างชาติมากสุดได้แก่ คอนโดมิเนียม ขนาด 40-50 ตร.ม. ราคา 4-5 ล้านบาทต่อยูนิต ในทำเลสุขุมวิท สาทร อโศก พระราม 9 รัชดา และห้วยขวาง เป็นต้น