ธปท.เตือนศก.ปี 66 ส่อโตต่ำ 3% ยันไทยแกร่งรับมือโลกถดถอยไหว

HoonSmart.com>>ธปท.มองเศรษฐกิจปี 66 เติบโต 3.8% แต่มีสิทธิขยายตัวน้อยกว่า 3% หากท่องเที่ยว-ส่งออก-บริโภคเอกชนต่ำกว่าคาด เงินเฟ้อสูงเกิน 5% เจอเศรษฐกิจโลกพ่นพิษ ประเทศหลักเร่งขึ้นดอกเบี้ยทำตลาดการเงินผันผวน ยันภาวะการเงินไทยยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย ทุนสำรองมีเสถียรภาพ ห่วงการดำเนินนโยบายที่ไม่ควรจะทำ คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ต่างคนต่างทำ ฉุดความเชื่อมั่น

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย 2023” ในงานสัมมนา Thailand 2023 : The Great Remake ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 อาจจะมีโอกาสเติบโตได้ต่ำกว่า 3% จากที่คาดไว้  3.8% หากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่า 19 ล้านคน จากเป้าหมายที่ 21 ล้านคน มูลค่าการส่งออกติดลบมากกว่า 2% จากเป้าเติบโตได้ 1.1% และการบริโภคภาคเอกชน เติบโตต่ำกว่า 1% จากเป้า 3.3% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกจะเผชิญความท้าทายมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะต้องขยับขึ้นไปสูงเกิน 5% ซึ่งต้องมาจากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงถึง 144 ดอลลาร์/บาเรล แต่เป็นไปได้ยากถ้าไม่มีปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นเหล่านี้มีความเป็นไปได้แต่ก็น้อย

ขณะเดียวกันตลาดการเงินมีความผันผวน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักจะยังอยู่ในระดับสูง จะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ดอกเบี้ยเร่งตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ทุกครั้งเป็นตัวซ้ำเติมเศรษฐกิจ และค่าเงินดอลลาร์ยังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง รวมทั้งภาระหนี้ในหลายประเทศเร่งตัวสูงขึ้น ประเด็นทั้งหมดนี้ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% และปี 2566 อยู่ที่ 3.8% แรงส่งหลักยังมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ในปีหน้าไทยถือเป็น 1 ใน 14 ประเทศ จาก 70 กว่าประเทศที่อัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% เพราะส่วนใหญ่เป็นผลมาจากต้นทุนพลังงานและอาหาร  อาจจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคบ้าง ส่วนปีหน้าราคาสินค้าก็อาจจะยังอยู่ในระดับสูงอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าจะน้อยกว่าปีนี้อยู่พอสมควร”

นายเมธี กล่าวอีกว่า ภาวะการเงินของประเทศไทยยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย แม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 2 ครั้ง สู่ระดับ 1% ต่อปี แต่ยังถือว่าเป็นประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ระบบการเงินยังมีเสถียรภาพ ทั้งธนาคารพาณิชย์ ตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนเงินบาทมีการอ่อนค่าลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการอ่อนค่าที่สอดคล้องกับภูมิภาค

ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศคิดเป็น 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพสูง ส่วนเงินทุนไหลออกอาจจะมีบ้างในตลาดพันธบัตร ส่วนตลาดหุ้นนั้นยังเป็นการไหลเข้าโดยรวมตั้งแต่ต้นปี ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรเงินทุนไหลเข้ายังเป็นบวกอยู่

“ตั้งแต่ต้นปีพบว่าเงินบาทอ่อนค่าแล้ว 12% ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับประเทศคู่ค้า 25 ประเทศ พบว่า อ่อนค่าลง 1.8% ซึ่งการอ่อนค่ายังไม่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุน  ไทยยังเป็นประเทศที่มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ดังนั้นหากการท่องเที่ยวยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเดือนละ 1 ล้านคน คงได้เห็นการเป็นบวกของดุลบัญชีเดินสะพัด  จะช่วยพยุงค่าเงินให้มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ก็ยอมรับ คาดเดาได้ยากว่าค่าเงินดอลลาร์จะเป็นอย่างไร โดยยังต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 2-3 พ.ย.นี้ โดยตลาดยังคาดว่าเฟดจะขยับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%” นายเมธี กล่าว

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อ smooth takeoff นั้น ธปท. ยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยคงไม่รุนแรงเหมือนในหลายประเทศ แต่จะทำให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ มีการชั่งน้ำหนักกับหลายเป้าหมาย เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือน หนี้เอกชน  ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีในการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ไม่ควรทำ คือมาตรการระยะสั้นหรือมาตรการที่ออกมาเฉพาะหน้า เพราะจะมีผลเสียในระยะยาว ส่งผลให้ตลาดการเงินปั่นป่วน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น  นอกจากนี้ก็ไม่ควรทำเรื่อง การออกนโยบายที่ไม่สอดคล้องกัน ไปคนละทิศละทาง นโยบายประชานิยมที่อาจบิดเบือนการทำงานของระบบการเงิน และสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

ด้านที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-3.5% มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 7-8% และอัตราเงินเฟ้อ 6.0-6.5% โดยเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ในวงจำกัด แต่ในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และทบทวนการถอนนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน