กองทุนรวม 9 เดือนเงินไหลออก 2.3 แสนลบ. เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยยังกดดันต่อ

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยกองทุนรวมไตรมาส 3/65 มูลค่าทรัพย์สินยังหดตัว เงินไหลออกสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท จากกลุ่มกองทุนหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนตราสารตลาดเงิน รวม 9 เดือนแรกเงินไหลออก 2.3 แสนล้านบาท นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ฉุด AUM ลดลง 2.6% จากไตรมาสก่อน วูบกว่า 13.1% จากสิ้นปี 64 ประเมินแนวโน้มยังไม่สดใส เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยยังกดดันการลงทุน ลุ้นไตรมาส 4/65 เงินไหลเข้าซื้อกองทุนประหยัดภาษี

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยในไตรมาส 3/2565 ยังคงหดตัวจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ปรับตัวลดลงและเม็ดเงินลงทุนไหลออก เนื่องจากผลตอบแทนในหลายกลุ่มกองทุนส่วนใหญ่ติดลบ โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศที่เป็นปัจจัยกดดันในปีนี้ โดยยังไม่เห็นปัจจัยหนุนให้อุตสาหกรรมกลับมายืนอยู่ในระดับเดิมได้ เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อและการปรับขึ้นดอกเบี้ยยังคงกดดันการลงทุน ต้องรอลุ้นไตรมาส 4/2565 จะสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนหันมาลงทุนกองทุนประหยัดภาษีได้มากน้อยแค่ไหน

“กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.7 ล้านล้านบาท หดตัว 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 13.1% จากสิ้นปี 2564 ในไตรมาส 3/2565 มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการไหลออกจากทั้งกลุ่มกองทุนหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนตราสารตลาดเงิน รวมเงินไหลออกสุทธิสะสม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท” นางสาวชญานี กล่าว


ทั้งนี้ ภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 3 ปี 2565 ตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากท่าทีที่ชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐที่มุ่งมั่นจะต่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูง โดยได้มีการปรับดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และต่อสกุลเงินอื่นที่อ่อนค่า นำไปสู่ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ทางฝั่งประเทศจีนที่เศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะภาคอสังหาที่มียอดขายหดตัวมากที่สุดในรอบหลายปี

ขณะที่การบริโภคในประเทศยังมีปัจจัยกดดันจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้โดยรวมผลตอบแทนการลงทุนประเทศจีนยังติดลบต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 1.00% หรือปรับขึ้น 0.25% จากมุมมองของแบงก์ชาติถึงแนวโน้มการฟื้นตัวในด้านการบริโภคและการท่องเที่ยว และคาดเงินเฟ้อจากด้านอุปทานชะลอลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงและปัญหาห่วงโซ่อุปทานบรรเทาลง

ในขณะที่ด้านอุปสงค์ไม่ถือว่าสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมากนัก จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ในช่วงที่ผ่านมาหุ้นไทยเป็นตลาดที่ถือว่า outperform หลายตลาด โดย SET TR รอบ 3 เดือนอยู่ที่ 2.3% และ 9 เดือนอยู่ที่ -1.6% ในขณะที่ Morningstar Global Markets Index รอบ 9 เดือนอยู่ที่ -25.4%

ด้านมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุน Money Market ยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 7.0 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ 2 เล็กน้อย กลุ่ม Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.8 แสนล้านบาท ลดลง 1.2% จากไตรมาสที่ 2

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF, SSF) กลับมามีเงินไหลออกสุทธิในเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยสะสมทั้งไตรมาสเป็นเงินไหลออกสุทธิเกือบ 4 พันล้านบาท สะสม 9 เดือนไหลออกสุทธิ 7.1 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 2.2 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีที่แล้ว 6.8%

กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 5.7% จากสิ้นปี 2564 แต่เพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ไปอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.3 พันล้านบาท รวมเงินไหลเข้าสุทธิ 9 เดือนที่ 4 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย

กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.2 แสนล้านบาท หดตัวลง 11.6% จากสิ้นปี 2564 และลดลง 1.7% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลออกสุทธิเกือบ 4 พันล้านบาท รวมเงินไหลออกสุทธิรอบ 9 เดือน 2.6 หมื่นล้านบาท

กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.7 แสนล้านบาท ลดลง 7.3% จากสิ้นปี 2564 หรือลดลง 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.7 พันล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา โดยเป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารทุน 1.4 พันล้านบาท นำโดยกองทุนหุ้นต่างประเทศ ขณะที่กองทุนหุ้นไทยเป็นเงินไหลออก

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8.8 แสนล้านบาท ลดลง 25.6% จากสิ้นปี 2564 และลดลง 7.4% จากไตรมาสก่อน มีเงินไหลออกสุทธิ 2.4 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 3 รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลออก 1.9 หมื่นล้านบาท

กองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 24.0% จากสิ้นปี 2564 และลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลเข้าสุทธิระดับ 80 ล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลออกสุทธิ 637 ล้านบาท

นางชญานี กล่าวว่า ภาพรวมเงินไหลออกสุทธิในกองทุนรวมตราสารหนี้มากสุดในไตรมาส 3 มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท และรอบ 9 เดือนมูลค่า 2.4 แสนล้านบาท แต่หากมองในภาพรวมถือว่าเม็ดเงินไหลออกชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกอย่างมาก ซึ่งเกิดจากการเปิดกองทุน term fund ทำให้มีเงินไหลเข้าสุทธิสูง และเงินไหลออกสุทธิที่น้อยลงจากกลุ่ม Short-Term Bond หรือ Mid/Long Term Bond

ขณะเดียวกันมีเงินไหลออกจากกองทุนตราสารทุน 9 เดือน 2.3 พันล้านบาท จากแรงขายกองทุนหุ้นในประเทศ กองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.3 ล้านล้านบาท มีเงินไหลออกสุทธิ 6.2 พันล้านบาท รวมเป็นเงินไหลออกสุทธิ 9 เดือน มูลค่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากกองทุนหุ้นในประเทศที่มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะแรงขายกองทุน LTF และแรงขายทำกำไรในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนต่างประเทศเริ่มมีแนวโน้มเงินไหลเข้าชะลอลง แต่โดยรวมกองทุนต่างประเทศยังเป็นเงินไหลเข้าสุทธิในช่วง 9 เดือน

กองทุนกลุ่มน้ำมันและทองคำหรือกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.2% จากสิ้นปีที่แล้ว ในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องอีก 1.0 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุนทองคำ 760 ล้านบาท โดยเป็นช่วงที่ราคาทองคำปรับลงต่อเนื่องท่ามกลางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์

ขณะเดียวกันการไหลออกสุทธิจากกองทุนน้ำมันเกิดขึ้นในช่วงราคาน้ำมันปรับลงจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้กองทุน Commodities มีเงินไหลออกสุทธิช่วง 9 เดือนที่ 2.4 พันล้านบาท

อ่านข่าว

ส่องผลตอบแทนกองทุน 9 เดือน ลงทุนนอกอ่วม-หุ้นเทคติดลบหนัก 42%