ฟิทช์คงเครดิต AIS-AWN ที่ AA+ หลังซื้อ 3BB ชูกำไรแข็งแกร่ง

HoonSmart.com>>ฟิทช์ฯการันตี “แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส” และ”แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค” ทั้งระยะยาวและระยะสั้น รวมถึงหุ้นกู้ รักษาอันดับเครดิตได้เท่าเดิม จากกำไรที่แข็งแกร่ง รักษาอัตราส่วนหนี้สินได้ดี จ่ายเงินปันผล 80% ของกำไรสุทธิ รายได้จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มขึ้นจาก 7%เป็น 18% หลังซื้อกิจการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ยกเรทติ้งในประเทศของ AIS สูงกว่า ไทยเบฟเวอเรจ เพราะฐานะการเงินแข็งแกร่งกว่า แต่สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ปตท.

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS และบริษัทลูก ได้แก่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ที่ AA+(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ของทั้งสองบริษัทที่ F1+(tha) ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของ AIS และ AWN ที่ AA+(tha)

อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง จากการที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยคาดว่า AIS จะยังคงมีกำไรที่แข็งแกร่ง และสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน ได้อย่างต่อเนื่อง

อันดับเครดิตของ AIS และ AWN อยู่ในระดับเดียวกัน สะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) จาก AIS แก่ AWN ในระดับสูง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ที่อยู่ในระดับสูง มาจากสัดส่วนรายได้และสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่มาจาก AWN ซึ่งอยู่ในระดับสูงที่ 96% และ 76% ตามลำดับ ในปี 2564

ฟิทช์มองว่าโครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์ร่วมกันอยู่ในระดับสูง โดย AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN ทำให้มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายด้านการเงินและการลงทุน นอกจากนี้ AWN มีการใช้แบรนด์สินค้าร่วมกันภายใต้แบรนด์ “AIS” สำหรับสินค้าและบริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และคอนเทนต์

ฟิทช์คาดว่า AIS จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของสภาวะเศรษฐกิจที่โต 3.2% ในปี 2565 และ 4.5% ในปี 2566 กิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว คาดว่าจะเติบโตในอัตราประมาณ 2% ต่อปี ในปี 2565 และ 2566 (ครึ่งปีแรกของปี 2565 เติบโต 2.2%)

ส่วนรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่ลดลง น่าจะกดดันกำไรของ AIS ในปี 2565 และ 2566 ฟิทช์คาดว่า EBITDA จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2565 และ 2566 จาก 7.6 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่นที่น่าจะยังคงเสนอแพ็คเกจที่มีราคาถูก สำหรับผู้ใช้บริการแบบชำระเงินล่วงหน้า (Prepaid) อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2565 และ 2566 แม้ว่าจะมีการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC (อันดับเคดิตภายในประเทศที่ A+(tha) เครดิตพินิจเป็นลบ (Rating Watch Negative)) ฟิทช์คาดว่าผู้ให้บริการจะพิจารณาการปรับเพิ่มราคาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อการสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

การขยายธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ฟิทช์มองว่า การเข้าซื้อกิจการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ AIS ในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของกำไร ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการเติบโตต่ำ ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 18% หลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จ จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% จะทำให้สถานะทางการตลาดของ AIS ปรับตัวดีขึ้น และกลายเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายใหญ่อันดับที่สองในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 35% จากปัจจุบันอยู่ที่ 15% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ TRUE

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ของ AIS ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในปี 2565 และ 2566 ที่ประมาณ 0.8-0.9 เท่า (ปี 2564 อยู่ที่ 1 เท่า) จะยังคงมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกประมาณปีละ 2-6 พันล้านบาทในปี 2565 และ 2566 เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อชำระค่าคลื่นความถี่จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2565 และ 2566 จาก 2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เชื่อว่าอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ จะทำให้มีความสามารถในการรองรับการลงทุน และค่าใช้จ่ายเพื่อจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตได้

แผนการเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ซึ่งจะใช้การกู้ยืมเงินเป็นทุแหล่งเงินน จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิของ AIS เพิ่มขึ้นประมาณ 0.4 เท่า โดยที่ยังไม่ได้พิจารณารวมกำไรจากสินทรัพย์ที่เข้าซื้อ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3-1.4 เท่าหลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จาก 1 เท่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.8 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ถึงแม้ว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตจะปรับตัวลดลง

อันดับเครดิตของ AIS มีความแข็งแกร่งกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ หรือ ThaiBev ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ AIS และ ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นผู้นำในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ AIS มีการกระจายตัวของธุรกิจในด้านภูมิภาคที่น้อยกว่า ThaiBev แต่อันดับเครดิตภายในประเทศของ AIS อยู่ในระดับสูงกว่า ThaiBev อยู่หนึ่งอันดับเนื่องจาก AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. (PTT) ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจาก AIS มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจมากกว่า AIS ปตท. เป็นผู้ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติในขั้นกลางและขั้นปลายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในธุรกิจผลิตและสำรวจปิโตรเลียม รวมทั้งยังเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทย AIS และ ปตท. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วน Net Debt/EBITDA อยู่ที่ระดับประมาณ 1 เท่า สำหรับ AIS และ 2 เท่าสำหรับ ปตท.