“ทริส” หั่นเครดิต RS เหลือ BBB สะท้อนผลงานอ่อนแอ่เกินคาด หนี้สูง

HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” ลดเครดิต “อาร์ เอส” เป็นระดับ BBB จาก BBB+ คงแนวโน้มอันดับเครดิต Stable สะท้อนผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าที่คาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจพาณิชย์ และภาระหนี้ที่สูงขึ้นจากการควบรวมกิจการ ประเมินบริษัทจะบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า

บริษัท ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อาร์ เอส (RS) เป็นระดับ BBB จาก BBB+ โดยยังคงแนวโน้มอันดับเครดิตที่ Stable หรือ คงที่ โดยการลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจพาณิชย์ และภาระหนี้ที่สูงขึ้นจากการควบรวมกิจการ แม้ว่าบริษัทมีแผนในการลดภาระหนี้ลง แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่สูงเกินกว่าระดับที่เหมาะสมสำหรับอันดับเครดิต BBB+ เมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่จะเพิ่มความท้าทายต่อการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัท

ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งในธุรกิจสื่อและบันเทิงของบริษัทซึ่งสนับสนุนโมเดล Entertainmerce และฐานะทางการตลาดให้แก่ธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทได้

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ผลการดำเนินงานของธุรกิจพาณิชย์อ่อนแอ บริษัทรายงานผลประกอบการของธุรกิจพาณิชย์อ่อนแอกว่าที่คาด โดยมียอดขายลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายได้ธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทลดลง 5% ในปี 2564 และ 33% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.26 พันล้านและ 826 ล้านบาทตามลำดับ ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอจากสภาวะการบริโภคและใช้จ่ายที่ลดลงอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโฮม ช้อปปิ้ง (Home Shopping) นอกจากนี้ สินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง ซึ่งได้แก่ แบรนด์ well u และ Vitanature+ (ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม) แบรนด์ CAMU C (เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริ๊งก์) และแบรนด์ Lifemate (อาหารสัตว์เลี้ยง) ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น

ในอนาคต ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องทั้งด้านผลการดำเนินงานและการเติบโต ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าจำเป็น บริษัทมีแผนจะนำสินค้าใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดเพื่อสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอ ทั้งการปรับขนาดของสินค้า การปรับสูตรสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ well u และ Vitanature+ เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริ๊งก์ ที่มีส่วนผสมของกัญชงสำหรับแบรนด์ CAMU C และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์แบบเปียกสำหรับแบรนด์ Lifemate ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทยังต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างแบรนด์ สร้างสถานะทางการตลาด ตลอดจนความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้แบรนด์และสินค้าของบริษัทเติบโตได้ในระยะยาว

สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทจะอยู่ที่ 2.1 พันล้านบาทในปี 2565 และจะอยู่ที่ 2.4-2.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 โดยที่การคาดการณ์รายได้ดังกล่าวได้รวมรายได้จาก ULife ซึ่งเป็นธุรกิจขายตรงที่บริษัทซื้อกิจการมาในเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัทมีแผนจะทำให้ธุรกิจของ ULife เป็นธุรกิจขายตรงรูปแบบใหม่ภายใต้บริบทของกลยุทธ์ Entertainmerce ของบริษัท ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จก็จะช่วยสนับสนุนให้รายได้ของธุรกิจพาณิชย์เติบโต

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากธุรกิจสื่อของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3 พันล้านบาทในปี 2564 ไปอยู่ที่ 1.8-2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการจัดคอนเสิร์ตและอีเวนท์ต่าง ๆ ที่จะสร้างรายได้ทั้งจากการขายบัตรและรายได้จากการสนับสนุนของสปอนเซอร์หลังจากที่สถานการณ์ของโรคโควิด 19 คลี่คลายลง ในขณะที่รายได้จากธุรกิจสื่อจะเติบโตได้เล็กน้อย แม้ว่าบริษัทจะสามารถผลิตและออกอากาศรายการใหม่ ๆ ได้มากกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคสื่ออย่างต่อเนื่องจะเป็นตัวจำกัดการเติบโตของรายได้โฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจสื่อดั้งเดิมอย่างทีวีและวิทยุ อย่างไรก็ดี การที่บริษัทผลิตรายการใหม่ ๆ ออกมาก็จะสนับสนุนให้บริษัทมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์รายการได้อย่างต่อเนื่อง

บริษัทมีความพยายามในการหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจสื่อทั้งในด้านสื่อออนไลน์ การตลาดแบบดิจิตอล และ ป็อปคอยน์ (Popcoin) ที่เป็นเครื่องมือทำการตลาดโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตของรายได้และยังส่งเสริมกลยุทธ์ Entertainmerce ของบริษัทได้อีกด้วย

สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาด ทั้งจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอและภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุน ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2.5 พันล้านบาทในปี 2564 เป็น 4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 243 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จาก 391 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี ก่อนหน้า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1.2 เท่าในปี 2563 ไปอยู่ที่ 6 เท่าในปี 2564 และ 15.3 เท่า (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 3.9 พันล้านบาทในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 4.3-4.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 และคาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) อยู่ที่ 15%-17% ในปี 2565 และเพิ่มสูงขึ้นไปที่ระดับ 19%-21% ในช่วงปี 2566-2567 โดยความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นพิจารณาจากกลยุทธ์ของบริษัทที่จะเปลี่ยนจากการขายสินค้าของคู่ค้าไปเป็นสินค้าของตนเองมากขึ้นในธุรกิจพาณิชย์รวมถึงความพยายามในการควบคุมต้นทุน ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะมี EBITDA อยู่ที่ประมาณ 650 ล้านบาทในปี 2565 และประมาณ 0.8-1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2567 ทริสเรทติ้งยังประมาณการว่าบริษัทจะมีการลงทุนในสินทรัพย์จะอยู่ที่ประมาณ 100-200 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2567 และมีการควบรวมและซื้อกิจการเพิ่มเติมมูลค่ารวมประมาณ 500-700 ล้านบาทในปี 2566 ด้วย

ทริสเรทติ้งได้รวมการพิจารณาแผนการลดภาระหนี้ของบริษัทที่รวมถึงการขายหุ้นบางส่วนของ บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (CHASE) เมื่อ CHASE นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกซึ่งตั้งเป้าไว้ในเดือนธันวาคม 2565 ตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง อย่างไรก็ดี ด้วยผลการดำเนินงานที่อ่อนลงยาวนานและระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นไป บริษัทจะใช้เวลานานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในการลดระดับภาระหนี้ลง ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะทยอยลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3 เท่าได้ในปี 2568

ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้ที่มีสิทธิได้รับการชำระคืนก่อนจำนวน 2.1 พันล้านบาทจากหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมดจำนวน 3.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิได้รับการชำระคืนก่อนเทียบกับหนี้สินรวมประมาณ 59% ซึ่งสูงกว่าระดับเพดานที่ 50% ทำให้ทริสเรทติ้งมองว่าเจ้าหนี้ของบริษัทที่ไม่มีหลักประกันจะมีความเสียเปรียบเจ้าหนี้ที่มีสิทธิสูงกว่า

ตามข้อกำหนดทางการเงินของเงินกู้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำกว่า 2.5 เท่านั้น ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.93 เท่าซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนหลักจะมาจากเงินสดในมือที่บริษัทมีอยู่ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 174 ล้านบาทและเงินทุนจากการดำเนินงานอีกประมาณ 400-450 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 223 ล้านบาทและมีแผนการลงทุนอีกประมาณ 100-200 ล้านบาท บริษัทยังมีหนี้สินระยะสั้นอีกจำนวน 1.7 พันล้านบาทที่คาดว่าจะต่ออายุวงเงินได้อย่างต่อเนื่อง