SUPER ยื่นไฟลิ่งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน SUPEREIF มูลค่า 8,500 – 9,000 ล้านบาท ต่อก.ล.ต.แล้ว คาดปลายเดือนม.ค.-ต้นก.พ.ปี 62 พร้อมเสนอขายหน่วยลงทุน ส่วนการบันทึกบัญชีขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุนอยู่ระหว่างหารือก.ล.ต.
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2561 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนได้ยื่นข้อมูลขอจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF ) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว โดยมีขนาดกองทุนมูลค่า 8,500 – 9,000 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนฯได้ภายในปลายเดือนม.ค.– ต้นเดือนก.พ.2562
ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่จะขายเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ อินฟราฟันด์ จะมาจากสินทรัพย์ที่คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติก่อนหน้านี้ โดยให้บริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด (“17AYH”) และ บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (“HPM”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SUPER ทำรายการจำหน่ายสินทรัพย์ในโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 19 โครงการ ขนาดกำลังการผลิต 118 เมกะวัตต์ ให้กับกองทุนฯ รวมทั้งคณะกรรมการยังได้อนุมัติให้บริษัทฯทำธุรกรรมซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ในสัดส่วน 15- 20 %
ส่วนเงินที่ได้รับจากการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปชำระคืนหนี้ และรองรับการขยายงานทั้งในประเทศและต่างประเทศภายในอนาคต
“การจัดตั้งกองทุนอินฟราฟันด์ที่ผ่านมาได้ทำงานกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุนฯ และให้ยื่นไฟลิ่งได้ในช่วงต้นตุลาคมตามเป้าหมาย ส่วนกระบวนการทำงานคงจะสามารถจัดตั้งกองทุนฯและเสนอขายหน่วยลงทุนได้ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป้าหมายหลักๆจะนำไปชำระหนี้เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ย และใช้ในการขยายการลงทุนในอนาคต ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจทำให้มีเงินทุนรองรับการเติบโตที่แข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งคาดว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคตได้อย่างแน่นอน”จอมทรัพย์ กล่าว
ในส่วนผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี 2561 คาดว่าบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง โดยทั้งปียังคงคาดว่าจะมีรายได้ 6,000 ล้านบาท รวมทั้งสามารถสร้างรายได้ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)ในโครงการต่างๆ ทั้งโรงไฟฟ้าขยะ จ.สระแก้ว ขนาดกำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าสหกรณ์การเกษตร เฟส 2 ขนาดกำลังการผลิต 28 เมกะวัตต์ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ และจะทยอยรับรู้รายเต็มปีในปีหน้า ซึ่งจะผลักดันให้กระแสเงินสดมีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆในต่างประเทศที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ผลประกอบการเติบโตเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ดี SUPER แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า การบันทึกบัญชีของบริษัทฯ ในการเข้าทำธุรกรรมการจัดตั้งและการเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน โดย SUPEREIF (ธุรกรรมการโอนรายได้สุทธิ) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและหารือกับก.ล.ต.โดยรูปแบบการบันทึกบัญชีอาจมีลักษณะ เป็น 1) แบบธุรกรรมการขายขาด (True Sale) โดยจะจําหน่ายทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องออกจากงบการเงินและรับรู้กําไรจากรายการดังกล่าวภายหลังเข้าทำรายการเรียบร้อยแล้ว หรือ 2) บันทึกบัญชีเป็นแบบหนี้สิน โดยบริษัทฯ จะบันทึกธุรกรรมดังกล่าวเป็นหนี้สินด้วยจํานวนเงินไม่เกิน 9,000 ล้านบาท ซึ่งอ้างอิงจากมูลค่าเสนอขายสิทธิในรายได้สุทธิตามที่ได้เปิดเผยไว้ในร่างชี้ชวน
จากงบการเงินรวมของบริษัทฯ ณ 30 มิ.ย.2561 บริษัทฯ มีอัตราหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหหุ้นรวมประมาณ 2.21 เท่า หากสมมติว่าบริษัทฯ บันทึกรายการธุรกรรมโอนรายได้สุทธิเป็นหนี้สินไม่เกิน 9,000 ล้านบาทและสมมติว่าบริษัทฯ ได้นําเงินที่ได้จากการทําธุรกรรมดังกล่าวบางส่วนจ่ายคืนเงินกู้มูลค่าประมาณ 4,150 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้ยืมที่เกี่ยวข้องกบโครงการโรงไฟฟ้าที่จะนํามาจัดตั้ง SUPEREIF ดังนั้นอัตราหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมเสมือน ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 ภายหลังจากการจัดตั้ง SUPEREIF จะเท่ากับ 2.02 เท่า ทั้งนี้ มูลค่าของกองทุนเป็นมูลค่าประมาณเบื้องต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนและภาวะตลาด ณ ขณะนั้น