ธปท.เปิดเฮียริ่งร่างเกณฑ์กำกับแบงก์ ทำธุรกิจ-ธุรกรรม ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’

HoonSmart.com>>ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมออกร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่อนุญาตให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 7-25 ก.ค.นี้ พร้อมจัดทำเอกสารทิศทางและแนวนโยบาย 3 ด้าน 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่อนุญาตให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้ความสำคัญต่อการมีธรรมาภิบาลที่ดี มีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ มีเงินกองทุนเข้มแข็ง มีการดูแลความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงภายในกลุ่ม และคุ้มครองลูกค้าให้ได้รับบริการที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ธปท. ขอรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณชนต่อร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7-25 กรกฎาคม 2565 บน BOT website หรืออีเมล SOB-RPD1@bot.or.th โดย ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่อไป

ธปท.ยังเปิดเผยว่า ตามที่ได้ออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (แนวนโยบาย Financial Landscape) ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรม และการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน รวมทั้งสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้อย่างเหมาะสม โดย ธปท. ได้สื่อสารแนวทางการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายภายใต้ Financial Landscape ข้างต้นแล้ว นั้น

ในครั้งนี้ ธปท. ได้จัดทำเอกสารทิศทางและแนวนโยบาย (directional paper) ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำเสนอรายละเอียด ดังนี้
1.หลักคิดของการกำกับดูแลที่คำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงในบริบทของไทย

2.เป้าหมายและแนวทางกำกับดูแลที่เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจให้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และสามารถยกระดับการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับความเสี่ยงได้ทันการณ์

3.ความคาดหวังจากแนวทางการกำกับดูแลนี้ ที่ต้องการให้ระบบเศรษฐกิจการเงินได้รับประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลูกค้าได้รับบริการที่ตรงความต้องการยิ่งขึ้น และได้รับความคุ้มครองเพียงพอ ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลง และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม