HoonSmart.com>>”อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ติดเครื่องวิ่ง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 90% ในบริษัทเหมืองโปแตซ จ.อุดรธานี รอมานาน ในที่สุด ครม.ไฟเขียวเดินหน้าลงทุน ส่งกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาออกประทานบัตร จังหวะเหมาะราคาปุ๋ยแพงมาก ส่วน”ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น” ถือหุ้น 25% เหมืองโปแตชชัยภูมิ ได้อานิสงส์ กำลังลงทุน ระดมเงินไม่ยาก คาดเปิดดำเนินการปี65
วันที่ 28 มิ.ย.2565 ราคาหุ้นของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) พุ่งแรง 20% บวก 0.37 บาท ปิดที่ 2.22 บาท มูลค่าซื้อขาย 715 ล้านบาท ตอบรับ ครม.ไฟเขียวเหมืองโปแตซอุดรฯ และหุ้นบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) ราคาซิลลิ่งสนิทปิดที่ 0.36 บาท เพิ่มขึ้น 0.08 บาท มูลค่าซื้อขาย 138.66 ล้านบาท รับ Sentiment จากการถือหุ้น 25% ในบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ ที่อยู่ระหว่างการหาเงินสำหรับการลงทุน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเดินหน้าเหมืองแร่โปแตซ ใน จ.อุดรธานี หลังจาก บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น (APPC) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจแร่โปแตซใน จ.อุดรธานี ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากประชาชน ขั้นตอนต่อไปกระทรวงอุตสาหกรรมจะไปพิจารณาการออกประทานบัตร
ทั้งนี้ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้ถือหุ้นหลัก 90% ใน APPC ส่วนอีก 10% เป็นการถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง
นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ครม.เห็นชอบเดินหน้าเหมืองแร่โปแตซใน จ.อุดรธานี ของบริษัทย่อย ITD ทำให้ ITD มีโอกาสดีที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจจริงจัง โดยได้รับอานิสงส์จากสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาปุ๋ยแพง รัฐบาลจึงกลับมาสนับสนุนการลงทุนเหมืองโปแตซในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศ
APPC ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตซในบริเวณจังหวัดอุดรธานี พบแร่คุณภาพดี 2 แหล่ง คือ แหล่งอุดรใต้ และแหล่งอุดรเหนือ โดยมีแผนที่จะพัฒนาแหล่งอุดรใต้เป็นอันดับแรก
ทั้งนี้ โครงการฯ ประกอบด้วย พื้นที่คำขอประทานบัตร 4 แปลง ตั้งอยู่ในเขตบางส่วนของตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ และตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมืองอุดรธานี กับเขตบางส่วนของตำบลนาม่วง ตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา
จากการสำรวจแหล่งแร่โพแทชในพื้นที่โครงการ พบว่าแหล่งแร่วางตัวในแนวค่อนข้างราบที่ความลึกจากผิวดินประมาณ 300-400 เมตร โดยมีความหนาของชั้นแร่เฉลี่ย 3-4 เมตรและมีความสมบูรณ์เฉลี่ย 23.50% ถือเป็นแหล่งแร่โปแตซที่มีคุณภาพที่ดีแหล่งหนึ่งของโลก โดยใช้ระยะก่อสร้างประมาณ 2 ปี ระยะเวลาการทำเหมือง 21 ปี และระยะการปิดเหมืองและฟื้นฟูสภาพเหมือง 2 ปี มีกำลังการผลิตแม่ปุ๋ยโพแทชสูงสุด 2 ล้านตัน/ปี
ส่วน TRC ถือหุ้น 25% ในบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ (APOT) ซึ่งมีโครงการเหมืองโปแตซใน ใน ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ได้รับประทานบัตรเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2558 มีอายุ 25 ปี ปริมาณการผลิต 17.33 ล้านตัน/อายุโครงการ แผนการผลิต 1,100,000 ตัน/ปี มีการทดลองทำเหมืองโดยก่อสร้างอุโมงค์ถึงชั้นแร่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการ คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2565