HoonSmart.com>>บล.กรุงศรีมองกลางกลุ่มธนาคาร มองต่างตลาดเรื่องอานิสงค์ดอกเบี้ยขาขึ้น วัฏจักรอาจสั้นจบลงในครึ่งหลังของปี 65 หรือต้นปี 66 เศรษฐกิจอ่อนแอไม่มีประโยชน์ ด้านบล.บัวหลวงยังคงแนะนำกลุ่มแบงก์ บล.เอเซียพลัสคาดหากกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้ง สิ้นปีเห็น 1.25% เป้าหมายดัชนีปีนี้ 1,570 จุด หากลงต่ำกว่า สามารถทยอยซื้อหุ้นสะสมลงทุนระยะยาวได้ บล.ทรีนีตี้แนะ Wait & See มองเงินบาทอ่อนต่างชาติยังขายต่อ
บล.กรุงศรี เชื่อว่าธปท. จะเข้าร่วมการใช้นโยบายเข้มงวด ในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 10 ส.ค. 2565 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า เนื่องจากธปท. อาจกังวลว่าจะอยู่ในภาวะ behind the curve มากเกินไป อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเป็นความท้าทายของธนาคารในการปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อตามธปท. ในช่วงเศรษฐกิจอ่อนแอ ในกรณีนี้กังวลว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยอาจจบลงในครึ่งหลังของปี 2565 จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้คงมุมมอง เป็นกลาง ต่อกลุ่มธนาคารโดยมีแนวโน้มเชิงลบ
“วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้อาจสั้นและจบลงด้วยเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งปีหลังหรือต้นปีหน้า ทำให้ธนาคารอาจไม่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นในกรณีนี้ การขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงไล่ตามเงินเฟ้อในปัจจุบันทำให้เรานึกถึงสงครามเงินเฟ้อยุค Volcker ซึ่งจบด้วยเศรษฐกิจถดถอย”บล.กรุงศรีระบุ
แม้ตลาดอาจจะพร้อมใจกันเชียร์กลุ่มธนาคารจากประโยชน์ที่ได้จากการปรับดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้ แต่เรามีมุมมองการลงทุนที่ต่างออกไป การวิเคราะห์ยืนยันว่ากลุ่มธนาคารจะได้ผลกระทบเชิงบวกจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ที่มีสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจสูงและมี CASA สูงกว่า ซึ่งจะได้มีผลกระทบสุทธิเป็นบวกจากวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเช่น KTB, KBANK และ SCB จะเป็นธนาคารหลักที่ได้ผลประโยชน์จากแบบจำลอง อย่างไรก็ตาม มองว่าไม่ใช่วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้งจะทำให้ NIM ของธนาคารสูงขึ้น ในกรณีที่วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยเป็นระยะสั้นในช่วงเศรษฐกิจอ่อนแอจะไม่เป็นประโยชน์
ด้านบล.บัวหลวงคงแนะให้นักลงทุนหันมาเก็บหุ้นธนาคาร (เงินลงทุนและส่วนต่างดอกเบี้ยรับ ชอบเวลาดอกเบี้ยขยับขึ้น) หุ้นเติบโตสูงก้าวข้ามเงินเฟ้อ และเติบโตสอดรับกับเศรษฐกิจในประเทศที่กำลังฟื้นตัวได้เร็ว
บล.เอเซียพลัสสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงของเฟดในอัตรา 0.5 – 0.75% ในเดือน ก.ค.2565 ยังปรากฎให้เห็นส่วนมุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 2565 ขยับขึ้นไปอยู่ในโซน 3.5-3.75% ทิศทางดังกล่าวยังน่าจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นโลก ส่วนในไทย ธปท. ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะไม่มีการเรียกประชุม วาระพิเศษ ทำให้รอบการประชุมที่เหลือของปีนี้มี 3 ครั้ง หากปรับขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้งของการประชุมก็จะเห็นการปรับขึ้น 0.75% มาอยู่ที่ 1.25% ซึ่งที่ระดับดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% และกำหนดให้ระดับ Market Earning Yield Gap คงไว้ที่ 4.4% จะให้ระดับ PER เป้าหมายปี 2565 ที่ระดับ 17.66 เท่า คิดเป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป้าหมายที่บริเวณ 1,570 จุด ดั้งนั้นในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุน หากดัชนีปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 1,570 จุด สามารถทยอยซื้อหุ้นสะสมลงทุนระยะยาวได้ คาดว่ายังผันผวนอยู่ในกรอบ 1,545 – 1,570 จุด
บล.ทรีนีตี้มองการส่ญญาณปฏิเสธนัดประชุมฉุกเฉินของธปท.จะทําให้เงินบาทถูกโจมตีในระยะสั้น ซึ่งจะกลายมาเป็นปัจจัยทางอ้อมเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศต่อไป มองเงินบาทยังคงเดินหน้าอ่อนค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 35.3 บาท/ดอลลาร์ สะท้อนภาวะความอ่อนแอของฟันด์โฟลว์ต่อไป หากนับตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.เป็นต้นมาพบนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท พร้อม Short สุทธิใน Index futures แล้วกว่า 1.3 แสนสัญญา ส่วนในตลาดตราสารหนี้ขายสุทธิไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท
ในเชิงกลยุทธ์ ยังคงไม่เห็นความน่าสนใจในการเข้าลงทุนตอนนี้ ทั้งปัจจัยภาพเศรษฐกิจโดยรวม และในเชิงของ Valuation ด้วย จึงยังคงแนะนํานักลงทุนชะลอการลงทุนและ Wait & See ต่อไป