KTAM Focus : China – The New Core?

โดย..ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย 

โควิดปะทุ เซี่ยงไฮ้-ปักกิ่ง ทางการสั่งตรวจ PCR ประชาชนทุกคนใน 15 จาก 16 เขตของมหานครเซี่ยงไฮ้สุดสัปดาห์นี้ โดยมี 5 เขตที่ห้ามคนออกนอกบ้านขณะดำเนินการดังกล่าว mass testing กลับมาอีกครั้งเพียง 10 วันหลังเลิกล็อกดาวน์ เพราะพบผู้ติดเชื้อในชุมชนแสดงอาการ 6 รายภายนอกพื้นที่กักกันโรค ด้านกรุงปักกิ่งรายงาน 36 เคส (local symptomatic) พุ่งขึ้นจาก 7 รายเมื่อวันก่อน โดยเมืองหลวงของจีนเพิ่มมาตรการควบคุมโควิดตั้งแต่วันพฤหัสฯ

จีนเปิดๆปิดๆ…ลงทุนได้หรือ? เราตอบว่า “ได้” นักลงทุนบางส่วนไม่กล้ากระโจนใส่หุ้นจีนเพราะเชื่อมโยง “ความน่าลงทุน” ของประเทศหนึ่งๆเข้ากับ “การเปิดเมือง” มากเกินไปเนื่องจากโฟกัสที่ “การบริโภค” ซึ่งโดนกระทบหนักสุดเมื่อล็อกดาวน์ ทว่าเศรษฐกิจยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอื่นๆอีกได้แก่ การส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ และ การลงทุน

จีนมิอาจพึ่งพาภาคส่งออกมากนัก แม้ยอด exports พ.ค. ฟื้นแรงกว่าคาด ส่วนหนึ่งเพราะระบาย backlog หลังคลายล็อกท่าเรือ ขณะดีมานด์โลกโยกไปหาภาคบริการมากขึ้น และเศรษฐกิจคู่ค้าใหญ่ๆ (สหรัฐและยุโรป) เสี่ยงถดถอย

นโยบายกระตุ้นภาครัฐ “จัมพ์สตาร์ท” วัฏจักรลงทุนจีน รัฐบาลเสนอเงินชดเชย/สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ธุรกิจที่ถูกกระทบจากล็อกดาวน์ ธนาคารกลาง (PBOC) ผ่อนคลายการเงินช่วยเสริมสภาพคล่อง เพิ่มโควตาสินเชื่อจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ผลตอบสนองทางเศรษฐกิจจริงสะท้อนชัดเจนขึ้นเรื่อยๆโดยข้อมูลล่าสุด สินเชื่อใหม่ พ.ค. ออกมาเกือบ 3 เท่าของเดือนก่อน ขยายตัวแรงกว่าคาดมาก

ล็อกดาวน์ = กดดีมานด์ = เงินเฟ้อต่ำ เราเคยนำเสนอแง่มุมอันลุ่มลึกนี้ไว้แล้วใน “US-to-China Rotation” (22 พ.ค.)

“จีนล็อกดาวน์ ว่างงานพุ่ง ส่งผลข้างเคียงกดดีมานด์ลงชั่วคราว ดังนั้น แม้ทั่วโลกเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อสูงจนธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยรัวๆ แต่เงินเฟ้อจีนปัจจุบันสูงเฉพาะฝั่งผู้ผลิต (PPI) ขณะดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) โตต่ำกว่าเป้ามาก เปิดช่องให้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก”

เงินเฟ้อจีนต่ำที่สุดในโลก* ข้อมูล พ.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) +2.1%YoY ทรงตัวและ -0.2%MoM หดตัวเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) +6.4%YoY ต่ำสุดใน 14 เดือนและ +0.1%MoM

* เทียบเฉพาะประเทศที่มีข้อมูล พ.ค. บนเว็บ Trading Economics ณ 11 มิ.ย. 2022

อำนาจใหม่เป็นของฝ่าย “อุปทาน” สงครามยูเครนดันราคาโภคภัณฑ์พุ่ง จีนล็อกท่าเรือจนของขาดแคลนทั่วโลก สะท้อนภาพ “รัสเซีย” กุมชะตาพลังงานและอาหาร “จีน” คุมซัพพลายสินค้ามหาศาลด้วยสถานะ “โรงงานโลก” กลับตาลปัตรจากอดีตซึ่งฝั่งดีมานด์เคยเป็นใหญ่ …หลักฐานชัด… เงินรูเบิลแข็งค่าสุดปีนี้แม้ตะวันตกคว่ำบาตร จีนซื้อน้ำมันรัสเซียถูกๆได้โดยไม่โดนสหรัฐแบน แถมไบเดนกำลังทบทวนว่าอาจลด/เลิกกำแพงภาษีสินค้าจีนจากยุคสงครามการค้า เพื่อทุเลาปัญหาเงินเฟ้ออีกด้วย


ประเด็นมหภาคที่ว่ามาสนับสนุนการลงทุนตลาดจีน
onshore เป็นหลัก (ตราสารทุน ตราสารหนี้ และ ค่าเงินหยวน) กองทุนหุ้น KT-Ashares (onshore ล้วน) กองทุนตราสารหนี้ KT-CHINABOND (onshore เกินครึ่งพอร์ต ณ 30 เม.ย.)

ตลาดหุ้นจีน offshore (H-shares, ADRs) พุ่งกระตุ้นต่อม FOMO** ของนักลงทุนโลก เห็นได้จาก fund flows ถาโถมเข้าใส่ในเดือนนี้ กูรูสารพัดค่ายพากันอัพเกรดวิวด้วยปัจจัยบวกสำคัญ (ประเด็นเดียวก็เกินพอ) รัฐบาลปักกิ่งส่งสัญญาณยุติการเฆี่ยนตีบริษัทเทคโนโลยี ตั้งแต่มีรายงานว่ากรณีสอบสวน Didi Global ใกล้สิ้นสุด ตลอดจนการอนุมัติเกมใหม่รอบสองของปีนี้ แม้ยังไม่แน่ใจ Ant Group จะกลับมา IPO จริงหรือไม่? (ข่าวลือถูกปฏิเสธ) แต่ดูเหมือนกระทิงจีน All-China ถูกปลุกให้ตื่นแล้วไม่อยากนอนต่อ เพราะพอ “ความเสี่ยงลดลง” มาเจอ “ราคาหุ้นต่ำติดก้นบ่อบาดาล” ประกอบกับ positions อันบางเบาของบรรดานักลงทุนตะวันตกซึ่งไม่กี่เดือนก่อนเคยคิดว่าหุ้นจีน uninvestable (แต่วันนี้บ้านตัวเองกลับไม่น่าลงทุนเสียแล้ว) มหกรรมไล่ซื้อ panic buy ก็คงเกิดไม่ยาก …สตอรี่นี้เข้าทาง KT-CHINA กองทุนหลักปัจจุบันมีนโยบายลงทุน offshore ไม่น้อยกว่า 70%

** fear of missing out = กลัวตกรถ

“อคติ” จากการรับรู้ข้อมูล/เหตุผลแง่เดียว ได้กีดกันคนจำนวนมากจากโอกาสลงทุนหุ้นโลกกลุ่มพลังงาน (ดั้งเดิม) ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างสดๆร้อนๆอันน่าเสียดายอย่างยิ่งนี้อาจทำให้หลายคนฉุกคิดบ้างว่า แทบทุกประเด็นล้วนมี 2 ด้าน (หรือมากกว่า) แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่รับข่าวสารและแนวคิดจากซีกโลกตรงข้ามกับเราเกือบ 100%

China – The New Core? ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน สหรัฐควรเป็นแกนหลักของพอร์ตอยู่หรือไม่? และ “จีน” ควรมีสัดส่วนน้อยขนาดนี้ (3.5% MSCI ACWI 31 พ.ค.) จริงหรือ?

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน