บล.กสิกรฯ คาดแนวรับ 1,600 เอาอยู่ จับตาประชุมเฟดสัปดาห์หน้า

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยคาดหุ้นแกว่งในกรอบ 1,600-1,665 จุด รอมติเฟด 14-15 มิ.ย. และการประชุมศบค.  ด้านค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยมองเคลื่อนไหวที่ระดับ 34.40-35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์  จากต่างชาติขายหุ้นและตราสารหนี้

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (13-17 มิ.ย.2565) ว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,620 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,665 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (14-15 มิ.ย.) สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการประชุมศบค.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOE และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนพ.ค. อาทิ ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

ในวันศุกร์ (10 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,632.62 จุด ลดลง 0.91% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 63,672.81 ล้านบาท ลดลง 13.13% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.79% มาปิดที่ 642.79 จุด

ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ ช่วงต้นสัปดาห์ร่วงลง จากความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังล่าสุดธนาคารกลางชั้นนำอีก 1 แห่งคือ ECB ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน ทั้งนี้ หุ้นดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนหลักจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์ หลังกนง. มีมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ซึ่งสะท้อนโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า

ส่วนค่าเงินบาท สัปดาห์ถัดไป (13-17 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 34.40-35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ หลังขยับแข็งค่าช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินหยวนซึ่งได้รับอานิสงส์จากความหวังว่าแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนน่าจะทยอยคลายตัวลงในระยะข้างหน้าหลังเริ่มคลายล็อกดาวน์

อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกอ่อนค่าในช่วงต่อมาสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นเหนือ 3.00% รับโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ยังไม่ได้รับแรงหนุนมากนัก แม้ผลการประชุมกนง. สะท้อนสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังกนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น พร้อมๆ กับความเสี่ยงของการขยับสูงขึ้นของเงินเฟ้อ

ในวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.35 บาท ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (2 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,890 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 10,711 ล้านบาท (เป็นการขายสุทธิพันธบัตร 5,022 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 5,689 ล้านบาท)