GL โฉมใหม่ เป็น “มัลติไฟแนนซ์” รุกครบวงจร

“กรุ๊ปลีส” ดิ้นหนีลิสซิ่ง ประกาศเป็นมัลติไฟแนนซ์ เปิดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตั้งเป้ารายได้พุ่งเท่าตัว สู่บริการทางการเงินแบบครบวงจร พัฒนาลูกค้าให้เติบโตไปด้วยกัน

นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส (GL) เปิดแถลงแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีข้างหน้า (2561-2565)ว่าบริษัทเพิ่มประสิทธิภาพจากลิสซิ่งเป็น “มัลติไฟแนนซ์” ปรับโมเดลธุรกิจ”ดิจิทัล ไฟแนนซ์” สู่การเป็น “ไลฟ์ไซเคิลไฟแนนซ์” ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร โดยตั้งเป้าการเติบโตรายได้กว่า 1 เท่าตัวขึ้นสู่ระดับ 5,000 ล้านบาท ทางด้านพอร์ตสินเชื่อจะขยายตัวจากระดับ 7,934 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 14,495 ล้านบาท กรณีที่ดีที่สุด หรือแย่ที่สุดก็อยู่ที่ประมาณ 9,620 ล้านบาท เติบโต 20% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)กรณีที่แย่ที่สุด จะควบคุมเต็มที่ในระดับ 6% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.5% ซึ่งบริษัทไม่มีนโยบายขายหนี้ออกไปแต่อย่างใด

“เราเริ่มดำเนินการบ้างแล้ว วัฏจักรแบบไลฟ์ไซเคิลไฟแนนซ์ ลูกค้าจะอยู่กับเราตลอด ยกตัวอย่างกรณีลูกค้ามาขอลิสซิ่งรถมอเตอร์ไซด์คันใหม่ เมื่อผ่อนหมดแล้ว แต่มีความต้องการใช้เงิน ก็สามารถนำมอเตอร์ไซด์คันนั้นมาขอใช้สินเชื่อใหม่ที่มีหลักประกัน หรืออยากจะขายรถมือสองก็ทำได้ เราสามารถให้บริการอย่างครบวงจรได้ ปัจจุบันยอดปล่อยกู้มอเตอร์ไซต์มือหนึ่งเฉลี่ย 50,000 บาทต่อคัน ส่วนยอดปล่อยกู้บิ๊กไบท์สูงสุดอยู่ที่คันละ 2.5 แสนบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 หมื่นบาท ส่วนเงินกู้สินเชื่อจำนำปล่อยกู้เฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 บาทต่อคน” นายทัตซึยะกล่าว”

นอกจากนั้นบริษัทยังช่วยให้ลูกค้าเติบโตและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยการจัดหาโซลูชั่นทางการเงินที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและความเหมาะสมในระดับท้องถิ่น บริษัทพร้อมมีความเป็นสากลในเวลาเดียวกัน ด้วยการเป็น GLOCAL finance company มีการพัฒนาประสิทธิภาพการสร้างระบบเครือข่าย POS ที่มีต้นทุนต่ำ เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายการบริหาร เช่น เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น

ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ใน 7 ประเทศ คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้จะมาจากประเทศไทยอยู่ที่ 55% เมียนมา 18% ซึ่งเป็นการเติบโตแบบมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เริ่มเข้าไปเทคโอเวอร์เมื่อไตรมาส 1/2560 ส่วนกัมพูชาอยู่ที่ 17% บริษัทปรับลดพอร์ตลง เหมือนกับที่เคยทำในประเทศไทยก่อนหน้านี้ ส่วนอินโดนีเซียอยู่ที่ 6% และลาว 4% จากปี 2560 ที่ไทยอยู่ 63% กัมพูชา 26% ลาว 5% เมียนมา 3% และอินโดนีเซีย 3%
รายได้หลักมาจากปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ 68% ไมโครไฟแนนซ์ 18% อื่นๆ 10%

ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้ นายทัตซึยะกล่าวว่า จะมีโอกาสพลิกกลับมาทำกำไรได้ หลังจากไม่มีการตั้งสำรองพิเศษเหมือนปีก่อน ที่ขาดทุนสุทธิ 1,603.21 ล้านบาท ส่วนปีนี้ 6 เดือนแรกมีกำไรแล้ว 226 ล้านบาท ทางด้านต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 5.2% แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กรณีที่แย่ที่สุดที่ระดับ 7.5% ส่วนกรณีที่ดีที่สุด จะอยู่ที่ระดับ 6.2%

อ่านประกอบ

“ศรีสวัสดิ์” ควง “คาเธ่ย์” บุกตลาดเออีซี